กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนก.ค.64 อยู่ที่ 99.81 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 0.45% เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง เป็นผลจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐบาล และการลดลงของราคาอาหารสดบางประเภท ที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เฉลี่ย 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.83%
สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือนก.ค.64 อยู่ที่ 100.50 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 0.14% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.26%
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนก.ค.นี้ ชะลอตัวลงจากปัจจัยเรื่องการลดลงของอาหารสดบางประเภท (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผักสด) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงมาตรการลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งการลดค่าไฟฟ้า-ค่าน้ำประปา ในรอบเดือนก.ค.-ส.ค. และการลดค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา ในขณะที่ปัจจัยที่ยังทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงขยายตัว มาจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ที่สูงขึ้น 6.3% และการสูงขึ้นของอาหารสดบางประเภท อาทิ เนื้อสุกร ไข่ไก่และผลไม้สด ตามความต้องการในช่วงล็อกดาวน์ ประกอบกับเกิดโรคระบาดในสุกรส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยลง
อย่างไรก็ดี หากไม่มีมาตรการลดภาระค่าครองชีพจากภาครัฐ อาจทำให้เงินเฟ้อในเดือนก.ค. ขยายตัวได้ถึง 1.8%
"ปัจจัยทั้งสองกลุ่มที่กล่าวมา มีทั้งที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และลดลง แต่อิทธิพลของกลุ่มที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมีมากกว่า แต่หากไม่มีมาตรการภาครัฐเข้ามา เงินเฟ้ออาจขยายตัวมากกว่านี้ โดยเมื่อรวมๆ ผลกระทบจะอยู่ที่ 1.3% ดังนั้น ถ้าไม่มีมาตรการเหล่านี้ เงินเฟ้อเดือน ก.ค.อาจขึ้นไปถึง 1.8%" นายวิชานันระบุ
สำหรับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอนี้ สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวเช่นกัน อาทิ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถจักรยานยนต์ รวมถึงรายได้เกษตรกร นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ยังคงขยายตัวได้ แต่ในอัตราที่ชะลอลง โดยดัชนีราคาผู้ผลิต ขยายตัว 5.0% และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ขยายตัว 7.8%
ผู้อำนวยการ สนค. ยังกล่าวถึงมีแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในเดือนส.ค.ว่า จะขยายตัวต่อเนื่องในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยมีปัจจัยสำคัญจากมาตรการลดค่าครองชีพผู้บริโภคของภาครัฐ ทั้งการลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ในรอบเดือนก.ค.-ส.ค.64 อีกทั้งราคาพลังงานที่ถึงแม้จะมีแนวโน้มสูงขึ้นจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลงในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่ก็มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากฐานราคาของปีก่อนเริ่มสูงกว่าช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินเฟ้อขยายตัวน้อยลง สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ตามปริมาณผลผลิตและความต้องการ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังมีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศ
พร้อมคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ จะอยู่ที่ระดับ 1-1.9%
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ และการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศ อย่างไรก็ตาม แผนการจัดหาและการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและมีความชัดเจน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยออกมาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง น่าจะสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ คือ 1 - 3%
อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 0.7 - 1.7% (ค่ากลาง 1.2%) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ซึ่งหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนตัวเลขดังกล่าวอีกครั้ง
"อัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ อาจจะสูงกว่า 0.7% หากราคาน้ำมันเพิ่มสูงกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพเพิ่มเติม แต่ถ้ารัฐบาลออกมาตรการเพิ่มเติม โอกาสที่เงินเฟ้อจะสูงเกินกว่า 0.7% ก็เป็นไปได้น้อยลง...อัตราเงินเฟ้อของไทยยังสอดคล้องกับทิศทางของอัตราเงินเฟ้อต่างประเทศ แต่เราโชคดีที่ไม่สูงมากเท่านั้น เพราะเรายังมีมาตรการภาครัฐคอยกดไว้อยู่" นายวิชานันระบุ