ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อเนื่องตลอดปี 64 และปี 65 แต่โอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งภายในปีนี้มีมากขึ้นเช่นกัน
โดย EIC ประเมินว่า ในกรณีฐานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 65 เนื่องจากการประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของ กนง. ในกรณีฐานยังคงมีสมมติฐานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดอาจปรับดีขึ้นและสามารถผ่อนคลายการ lockdown ได้ในช่วงต้นของไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้ความจำเป็นในการลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้มีน้อยลง นอกจากนี้ กรรมการส่วนใหญ่ยังมองว่า ประโยชน์จากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในภาวะปัจจุบันจะมีจำกัด โดยปัญหาหลักคือ การกระจายสภาพคล่องไปยัง SMEs และครัวเรือนต่าง ๆ อย่างทั่วถึงมากกว่าปัญหาต้นทุนทางการเงิน
นอกจากนั้น กนง. ต้องชั่งน้ำหนักกับผลกระทบข้างเคียงของการลดดอกเบี้ยลงไปใกล้ศูนย์มากยิ่งขึ้น เช่น 1) อัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงอีกอาจทำให้ประชาชนบางกลุ่มที่พึ่งพารายรับหลักจากดอกเบี้ยเงินฝาก เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ ต้องหันมาออมเงินมากขึ้นและลดการใช้จ่ายลง 2) policy space จะลดลงอีกและไม่เพียงพอกับการรองรับกรณีที่เศรษฐกิจปรับตัวเลวร้ายกว่านี้ และ 3) การปรับลดดอกเบี้ยลงมามากอาจทำให้เกิดการก่อหนี้เพิ่มในปริมาณมาก ส่งผลให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไปทำได้ยากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาวที่มาจากระดับหนี้มีสูงเกินไป พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) และการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risk) ได้
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจที่มีอยู่มากโดยเฉพาะการระบาดที่อาจยาวนานกว่าคาดจะทำให้โอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งภายในปีนี้มีอยู่พอสมควร (ประมาณ 30%) เนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ที่มีอัตราการแพร่ระบาดที่สูงขึ้นมากเทียบกับสายพันธุ์เดิม โดยเฉพาะในภาวะที่การฉีดวัคซีนยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มาตรการ lockdown ในระดับที่ใช้อยู่อาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการควบคุมการระบาดให้ลดลงได้ภายในต้นไตรมาสที่ 4 ตามกรณีฐาน หากความเสี่ยงด้านต่ำเกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดที่รุนแรงและยาวนานกว่าที่คาด ผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ หรือการออกมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐทำได้น้อยกว่าคาดมาก ก็อาจทำให้คณะกรรมการส่วนใหญ่จำเป็นต้องหันมาดำเนินนโยบายผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมเพื่อพยุงเศรษฐกิจผ่านการลดภาระหนี้ดอกเบี้ยและการสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของภาคครัวเรือนและ SMEs อีกทั้ง ยังช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินและลดภาระการชำระดอกเบี้ยของภาครัฐจากหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะต่อไปด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้นอกจากการพิจารณาลดดอกเบี้ยแล้ว กนง. อาจพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ซึ่งนำมาใช้เมื่อปีที่แล้ว รวมถึงอาจพิจารณาปรับลดอัตราเงินนำส่งเพิ่มเติมได้
EIC ระบุว่า ธปท. จะพิจารณาปรับมาตรการการเงินที่มีอยู่และอาจออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเร่งจัดสรรสภาพคล่องไปสู่กลุ่มผู้ถูกกระทบจากการระบาดให้กระจายตัวทั่วถึงและเพียงพอมากขึ้นตามแนวทางที่ กนง. ได้สื่อสารไว้ ในภาพรวม แม้ ธปท. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับมาตรการการเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจ SMEs ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ แต่ความคืบหน้าของโครงการยังเป็นไปอย่างช้า ๆ และไม่ทั่วถึงนัก โดย ณ วันที่ 27 กรกฏาคม 64 มีผู้ได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู 27,219 ราย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3.5% ของจำนวนธุรกิจ SMEs ที่จดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศที่มีอยู่ราว 7.7 แสนราย อีกทั้ง สินเชื่อที่อนุมัติผ่านโครงการแล้วยังมีมูลค่าเพียง 8.2 หมื่นล้านบาท จากวงเงินรวมทั้งหมด 2.5 แสนล้านบาท ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่สินเชื่อใหม่ในภาค SMEs จะหดตัวต่อเนื่องอีกในปีนี้
สำหรับโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ก็มีผู้เข้าร่วมโครงการน้อยเช่นกัน โดยมีผู้ได้รับความช่วยเหลือเพียง 18 รายเท่านั้น ซึ่งสะท้อนได้ว่า เงื่อนไขของมาตรการและกฏระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจยังเป็นอุปสรรคต่อการเข้าร่วมโครงการของภาคธุรกิจ จึงเป็นความท้าทายสำคัญ ที่ภาครัฐจะต้องเร่งพิจารณาปรับเงื่อนไขและลดอุปสรรคของโครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการกระจายสภาพคล่อง โดยสำหรับโครงการสินเชื่อ SMEs ภาครัฐอาจต้องพิจารณากลไกที่เข้ามามีส่วนร่วมและลดความเสี่ยงด้านเครดิตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การปรับลดค่าธรรมเนียมประกันสินเชื่อ บสย. การเพิ่มสัดส่วนการชดเชยความเสียหายของพอร์ตสินเชื่อ หรือ การประกาศรับความเสี่ยงของภาครัฐในรูปแบบ loan guarantee ในสัดส่วนสูงเพียงพอ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการกระจายสภาพคล่องแก่ธุรกิจ SMEs ที่กำลังถูกกระทบจากวิกฤตโควิด-19 อย่างรุนแรง
ในส่วนของตลาดการเงิน ภาวะการเงินไทยยังมีแนวโน้มผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ปรับตัวลดลงในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตามการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงจากปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ โดยปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี อยู่ที่ 1.53% ปรับลดลง 21 bps นับจากต้นเดือนกรกฎาคม ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อยู่ที่ 1.18% ปรับลดลง 28 bps ในช่วงเวลาเดียวกัน
ด้านเงินบาทปรับอ่อนค่าลงมากกว่าสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค จากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเงินบาทอยู่ที่ 33.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากต้นปี 9.4% ซึ่งเป็นการอ่อนค่าที่มากกว่าค่าเงินของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยในระยะสั้นนี้ เงินบาทมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับอ่อนค่าจาก
1.การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้เงินทุนไหลออกจากไทยในเดือนกรกฎาคม ทั้งในตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุน โดยความกังวลต่อการแพร่ระบาดในหลายประเทศได้ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น จึงทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น
2.ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่ยังขาดดุลต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่สองของปีนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุลทั้งสิ้น 1.64 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 56 โดยการขาดดุลดังกล่าวเกิดจากการขาดดุลบริการจากค่าขนส่ง โดยเฉพาะค่าระวางสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ดุลการค้าของไทยยังคงเกินดุล นอกจากนี้ การท่องเที่ยวที่ชะงักส่งผลให้ความต้องการถือเงินบาทปรับลดลง เงินบาทจึงอ่อนค่าลงเร็ว
อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์การแพร่ระบาดปรับดีขึ้นตามคาดในไตรมาส 4 ปีนี้ ก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อยในช่วงปลายปี โดยหากค่าขนส่งสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากปัญหา Supply Chain disruption บรรเทาลงในช่วงที่เหลือของปี จะส่งผลให้ไทยมีการขาดดุลบริการลดลง นอกจากนี้ หากภาครัฐสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยให้ความต้องการเงินบาทปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ โดย EIC คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 32.5-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ