นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้รัฐบาลต้องเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการล็อกดาวน์นั้น ประเมินว่าในระยะ 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.) จะกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 5 แสนล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจย่อตัวลงอีกราว 2-3% จากที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวเหลือ -2 ถึง 0% ได้
ทั้งนี้ การที่รัฐบาลเพิ่มความเข้มข้นของการล็อกดาวน์โดยขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จากเดิม 13 จังหวัด เพิ่มเป็น 29 จังหวัดนั้น จะเห็นได้ว่าจังหวัดในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่สำคัญที่มีโรงงานอุตสาหกรรม หรือเป็นพื้นที่ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศเป็นสัดส่วนถึง 80% ของจีดีพี ซึ่งการเพิ่มพื้นที่ล็อกดาวน์ดังกล่าว ทำให้เกิดการชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับที่กว้างขวางมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยว การค้า และโลจิสติกส์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การประมาณการดังกล่าว อยู่ภายใต้สมมติฐานว่ารัฐบาลจะสามารถผ่อนคลายมาตรการลงได้ในเดือนก.ย. รวมทั้งหากรัฐบาลเร่งอัดฉีดเม็ดเงินผ่านมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประชาชน ภาคเกษตรกร และภาคธุรกิจ เศรษฐกิจไทยปีนี้ก็อาจจะไม่ติดลบมาก และยังพอมีโอกาสที่จะเป็นบวกได้เล็กน้อย แต่หากมาตรการล็อกดาวน์ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ และจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ไปต่อเนื่อง ก็อาจจะได้เห็นเศรษฐกิจไทยปีนี้หดตัว -2 ถึง -4% ได้เช่นกัน
"หากทุกประเทศมีการติดเชื้อรายวันมากขึ้น จนส่งผลให้เศรษฐกิจโลกกลับไปซึมตัว กระทบต่อการส่งออกของไทย เศรษฐกิจก็อาจจะติดลบได้อีก แต่หากรัฐบาลสามารถอัดฉีดเม็ดเงินอย่างน้อย 5 แสนล้านบาท - 1 ล้านล้านบาท เศรษฐกิจก็มีโอกาสจะกลับมาบวกได้ แต่ตอนนี้เรายังมองภาพนั้นไม่ชัดว่าโควิดจะคลี่คลาย และรัฐบาลจะมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติม" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมมองว่า อาชีพหรือธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากจากมาตการล็อกดาวน์ คือ ธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยว โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร สันทนาการ ของที่ระลึก ตลอดจนธุรกิจขนส่งทั้งในเมือง และระหว่างเมือง รวมไปถึงลูกจ้างรายวัน