นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding Webinar) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อนำไปประกอบการจัดทำเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมทุนก่อสร้าง โดยให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) คาดสามารถเชิญชวนภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนได้ภายในปลายปี 64
โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญเร่งด่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดย กนอ.เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน และนำความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินงาน เพื่อเสริมสร้างการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ในช่วงที่ 2 กำหนดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 ต.ค.61 ในรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งเอกชนจะได้รับประโยชน์จากการดำเนินกิจการท่าเรือสินค้าเหลวและคลังสินค้าหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ส่วน กนอ.จะมีรายได้จากค่าให้สิทธิการร่วมลงทุน ค่าเช่าพื้นที่ ค่าดำเนินการท่าเรือ ค่าบริการสาธารณูปโภค และค่าธรรมเนียมสินค้าผ่านท่า
สำหรับโครงการดังกล่าวแบ่งการพัฒนาเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ งานขุดลอกและถมทะเล งานระบบสาธารณูปโภค งานอุปกรณ์เดินเรือ และการพัฒนาท่าเรือก๊าซบนพื้นที่ 200 ไร่ ซึ่ง กนอ.ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการ กับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด (GMTP) เมื่อวันที่ 1 ต.ค.62 ระยะเวลาสัมปทานทั้งสิ้น 35 ปี
และขณะนี้อยู่ในช่วงที่ 2 โดย กนอ.กำลังดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างท่าเทียบเรือ ติดตั้งอุปกรณ์ และการบริหารจัดการท่าเรือบริการสินค้าเหลวบนพื้นที่แปลง A บนเนื้อที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่าประมาณ 814 เมตร และพื้นที่แปลง C บนเนื้อที่ 150 ไร่ (มีเฉพาะพื้นที่หลังท่า) สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ และเมื่อท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เปิดให้บริการเต็มศักยภาพจะสามารถรองรับสินค้ากลุ่มน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติเหลว และสินค้าเหลว โดยคาดว่าปริมาณการขนส่งสินค้าเหลวจะเพิ่มขึ้นจาก 27 ล้านตันต่อปีเป็น 31 ล้านตันต่อปี ซึ่งเอกชนจะได้รับสิทธิพัฒนาพื้นที่แปลง A และแปลง C เป็นระยะเวลาแปลงละ 32 ปี
"การจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนภาคเอกชน (Market Sounding) เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อทำให้ทราบถึงความสนใจของนักลงทุน และการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการตัดสินใจลงทุน รวมถึงได้รับข้อมูลที่จำเป็นครบถ้วน เพื่อใช้ประกอบการจัดทำเอกสารคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแนวทางการดำเนินงานโครงการต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนได้ภายในปลายปี 64 จากนั้นกำหนดคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและลงนามสัญญาร่วมทุนในเดือน ต.ค.65 และจะเริ่มก่อสร้างโครงการในปี 67 โดยพร้อมเปิดดำเนินการได้ในปี 69" นายวีริศ กล่าว