นายเสรี นนทสูติ กรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "การฟื้นประเทศอย่างเป็นธรรม:สูตรผสมหกสถาบัน" ว่า หากต้องการก้าวข้ามสถานการณ์โควิด-19 ไปให้ได้นั้นจำเป็นต้องมีการคณะทำงานขึ้นมาจัดทำวางแผน เพื่อที่จะขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน เพราะการขับเคลื่อนเพียงด้านหนึ่งด้านใดคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
โดยแนวทางที่ 6 สถาบันได้ทำการศึกษาเพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่
1.ด้านเศรษฐกิจ ต้องรักษาสภาพการจ้างงานเดิมและสร้างงานใหม่เพิ่มขึ้น การปรับโครงสร้างหนี้และสร้างวินัยไม่ให้มีการสร้างหนี้ใหม่ การสร้างเครือข่ายสังคม การปรับตัวให้สอดรับกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนต่ำ (BCG)
2.ด้านตลาดทุน ยังเป็นแหล่งระดมทุนที่มีความสำคัญของระบบเศรษฐกิจให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้
3.ด้านการบริหารราชการ ต้องดำเนินการให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล 4.0 นำเทคโนโลยีมาใช้บริหารวัคซีนที่มีความโปร่งใสหรือธรรมาภิบาลวัคซีน สามารถลดภาระในการเดินทางในการรับวัคซีนของประชาชน
4.ด้านความมั่นคง เนื่องจากพบปัญหาการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว การขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษาจำนวนมาก ผู้ป่วยไร้บ้านหรือถูกทอดทิ้ง ข่าวปลอม โดยต้องมีการปรับยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งในเรื่องของงบประมาณ อุปกรณ์ สถานที่ และบุคลากร รวมถึงการป้องกับไวรัสคอมพิวเตอร์และการโจมตีทางไซเบอร์ด้วย การปรับแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของประเทศ ซึ่งพบกฎหมายที่มีปัญหาอยู่ราว 40 ฉบับ การปฏิรูประบบราชทัณฑ์เพื่อลดการติดเชื้อในกลุ่มผู้ต้องขังเนื่องจากมีความแออัดมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึง 5 เท่า
5.ด้านการให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในภูมิภาค
6.ด้านการเมืองและการเลือกตั้ง โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและลดความเสี่ยงในติดเชื้อ
นายเสรี กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 นับเป็นหายนะร่วมกันของคนทั้งโลก ซึ่งยังอยู่กับเราไปอีกนาน ดังนั้นจึงต้องหาแนวทางที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้ โดยไม่จำเป็นที่ต้องไม่ให้มีผู้ติดเชื้อเลย แต่ต้องสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ซึ่งเครื่องมือสำคัญคือการฉีดวัคซีน