นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป วงเงินคุ้มครองเงินฝากที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) จะให้ความคุ้มครอง จะกลับเข้าสู่ระดับ 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน ซึ่งเป็นวงเงินการคุ้มครองเงินฝากที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 53 แห่งพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
โดยวงเงินความคุ้มครองเงินฝากดังกล่าว สามารถคุ้มครองกลุ่มผู้ฝากเงินรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ของประเทศได้อย่างครอบคลุมถึงกว่า 98% จากผู้ฝากเงินทั้งหมดของระบบสถาบันการเงิน ซึ่งพบว่าสัดส่วนของจำนวนผู้ฝากเงินที่ได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวนตามวงเงินที่กฎหมายกำหนดของประเทศไทย มีความใกล้เคียงกันกับค่าเฉลี่ยสัดส่วนจำนวนผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวนตามกฎหมายของประเทศต่าง ๆ
ทั้งนี้ การกำหนดวงเงินความคุ้มครองเงินฝากของไทย เป็นไปตามหลักการสำคัญของระบบการคุ้มครองเงินฝากที่มีประสิทธิผล (Core Principle for Effective Deposit Insurance Systems) ซึ่งเป็นหลักการสากล โดยครอบคลุมกลุ่มผู้ฝากเงินรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ของประเทศ และส่งเสริมการสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ระบบการเงินทั้งระบบ ทั้งในส่วนของผู้ฝากเงินจะเกิดความตระหนักในการบริหารจัดการความเสี่ยง และในส่วนสถาบันการเงินที่จะต้องบริหารจัดการการดำเนินกิจการให้มีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันสถาบันการเงินในประเทศไทย ยังคงมีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ ทั้งในส่วนของระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ระดับ 20% ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ประกอบกับการมีสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับสูง และสามารถรองรับความผันผวนของสภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขยายเวลาวงเงินความคุ้มครองเงินฝากเดิมออกไปอีกนอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ และเกิดความเชื่อมั่นในระบบการคุ้มครองเงินฝากที่มีประสิทธิภาพ
"กระทรวงการคลัง สถาบันคุ้มครองเงินฝาก และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการประเมินร่วมกันแล้วว่า การคุ้มครองเงินฝากดังกล่าว มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่สถาบันการเงินมีความแข็งแกร่ง ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ฝากเงินในระบบสถาบันการเงิน" รมว.คลังระบุ