(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ ปรับลด GDP ปี 64 เหลือโต 0.7-1.2% จากเดิมคาด 1.5-2.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 16, 2021 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ ปรับลด GDP ปี 64 เหลือโต  0.7-1.2% จากเดิมคาด 1.5-2.5%

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 64 ลงมาเป็นขยายตัว 0.7-1.2% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1% จากประมาณการเดิมคาดว่าจะเติบโต 1.5-2.5% โดยมีสมมติฐานว่า การแพร่ระบาดภายในประเทศผ่านพ้นจุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 3/64 และสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมในหลายพื้นที่ได้มากขึ้น ขณะที่การแพร่ระบาดในต่างประเทศไม่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องจับตาคือภาคการส่งออก ที่ขณะนี้สถานการณ์โควิดเริ่มมีผลกระทบจากภาคการผลิตบ้างแล้ว, การฟื้นตัวของการใช้จ่ายของครัวเรือนและภาคธุรกิจ ขณะที่ตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ถดถอย เพียงแต่โมเมนตัมของการขยายตัวลดลงจากผลกระทบสถานการณ์โควิดที่ระบาดหนัก

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุว่า สมมติฐานสำคัญที่สภาพัฒน์นำมาใช้ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยรอบนี้ คือ 1. สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศจะผ่านพ้นจุดสูงสุดและสามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้ โดยจากในกรณีฐานคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตจะเริ่มผ่านพ้นจุดสูงสุดในช่วงปลายเดือน ส.ค.64 ก่อนที่จะเริ่มลดลงอย่างช้า ๆ ในเดือน ก.ย.64 และปรับตัวลดลงมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4/64 จนส่งผลให้ภาครัฐสามารถเริ่มผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดได้มากขึ้นตามลำดับ

2. ไม่มีการแพร่ระบาดในระลอกใหม่จากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรงมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน ทั้งการแพร่ระบาด ในต่างประเทศและภายในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นฐานการผลิตและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ จนส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและภาคการท่องเที่ยวอย่างรุนแรงมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

3. การกระจายวัคซีนสามารถเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องและตามเป้าหมายที่คาดไว้ โดยในกรณีฐานคาดว่าจะสามารถกระจายวัคซีนได้อย่างน้อย 85 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรประมาณ 60% ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายในปี 64

4. วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 และสามารถสร้างการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันโรคและลดอัตราการป่วยที่มีอาการรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังมีสมมติฐานอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น เศรษฐกิจโลกในปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 6.0% ฟื้นตัวจากการลดลง 3.2% ในปี 63 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจาก 5.8% ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน, ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีอยู่ในช่วง 31.30-32.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจาก 31.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในปี 63, ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในช่วง 62-72 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจาก 42.40 ดอลลาร์สหรัฐ/ต่อบาร์เรลในปี 63, ราคาสินค้าส่งออกและราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น 2.5-3.5% และ 4-5%

รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท ลดลงจาก 4.4 แสนล้านบาทในปี 63 หรือลดลง 73.1% ขณะที่ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือเพียง 1.5 แสนคน จากประมาณการเดิมที่ 5 แสนคน โดยลดลงจากระดับ 6.7 ล้านคนในปี 63 หรือลดลงถึง 97.8% จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่ 91.5% ของงบประมาณ ทั้งหมด ปรับลดจากสมมติฐานการเบิกจ่าย 92.5% ในประมาณการครั้งก่อน ขณะที่การเบิกจ่ายภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายสะสม ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 รวมทั้งสิ้น 850,000 ล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2564 ทั้งสิ้น 550,800 ล้านบาท ขยายตัว 84.1% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 63 และคาดว่าในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2565 จะมีการเบิกจ่ายอีก 85,000 ล้านบาท ส่วนการเบิกจ่ายภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ เพิ่มเติมวงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 150,000 ล้านบาท (30% ของวงเงินกู้) ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2564 และคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายอีก 100,000 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2565

เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่สำคัญซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด ประกอบด้วย (1) การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ที่เริ่มทวีความรุนแรงนับตั้งแต่เดือน เม.ย.64 และยังคงยืดเยื้อ ท่ามกลางการกลายพันธุ์ที่ทำให้แพร่ระบาดได้รวดเร็วและเป็นวงกว้างมากขึ้น ทำให้ภาครัฐต้องใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดในหลายพื้นที่ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ และการใช้จ่ายภายในประเทศมีข้อจำกัดในการขยายตัว รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างล่าช้า

(2) เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ท่ามกลางการว่างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและถูกซ้ำเติมโดยการแพร่ระบาดระลอกใหม่ (3) แรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดในพื้นที่การผลิต รวมทั้งปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่การผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และ (4) ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีแรงสนับสนุนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้สามารถกลับมาขยายตัวได้อย่างช้า ๆ ประกอบด้วย (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และมาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ (3) การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของรายได้ภาคเกษตรตามแนวโน้มผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร และ (4) ฐานการขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 63 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ

นายดนุชา ยังกล่าวถึงการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 64 ที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับแนวทางดังนี้

1. การควบคุมสถานการณ์การระบาดให้อยู่ในวงจำกัด โดยให้ความสำคัญกับ การเพิ่มประสิทธิผลในการลดการแพร่เชื้อในครัวเรือน ชุมชน และกลุ่มแรงงาน, การจัดลำดับความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยตามอาการ เพื่อจัดสรรทรัพยากรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการเร่งรัดจัดหายาและเวชภัณฑ์ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและลดการใช้ทรัพยากรเพื่อรองรับผู้ป่วยกรณีอาการรุนแรง,การบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงอย่างเข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งการบังคับใช้มาตรการ ควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัดภายในบริเวณสถานประกอบการหรือโรงงาน (Bubble and Seal) และ การเร่งรัดจัดหาและกระจายวัคซีนอย่างเพียงพอและทั่วถึง

2. การช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจในช่วงที่การระบาดของโรคมีความรุนแรง และมีการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด ประกอบด้วย การเร่งรัดติดตามมาตรการการเงินและการคลังที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ควบคู่ไปกับการปรับมาตรการและดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างความเหมาะสม เข้าถึงเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับการระบาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น, การพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคแรงงานและธุรกิจผ่านมาตรการรักษาระดับการจ้างงาน ควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการสร้างงานใหม่และมาตรการพัฒนาทักษะแรงงาน และ การพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมในลักษณะเฉพาะเจาะจงให้กับผู้ประกอบการธุรกิจในสาขาที่ได้รับผลกระทบรุนแรงตั้งแต่การระบาดระลอกแรก และยังมีความล่าช้าในการฟื้นตัว โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs

3. การดำเนินมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเมื่อสถานการณ์การระบาดผ่อนคลายลง โดยให้ความสำคัญกับมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่าย และการท่องเที่ยวภายในประเทศ การจัดพื้นที่สำหรับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการป้องกันการกลับมาระบาดของโรค และการแก้ปัญหาและช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถกลับมาประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ

4. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าให้สามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับ (1) การควบคุมการแพร่ระบาดในฐานการผลิตที่สำคัญ (2) การเร่งรัดแก้ไขปัญหาที่เป็นข้อจำกัดและอุปสรรคในการขนส่งสินค้า (3) การแก้ไขปัญหาการขาดแรงงานต่างชาติในภาคการผลิต (4) การขับเคลื่อนการส่งออกไปยังตลาดหลักที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ (5) การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า และ (6) การเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ๆ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่อาจถูกหยิบยกเป็นเครื่องมือในการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า

5. การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่าย (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ไม่น้อยกว่า 91.5% แบ่งเป็น งบประมาณรายจ่ายประจำ 98% และงบลงทุน 65% (2) งบเหลื่อมปี ไม่น้อยกว่า 85% (3) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ไม่น้อยกว่า 70% และ (4) แผนงานและโครงการตาม พ.ร.ก. เงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ให้ได้ไม่น้อยกว่า 85% ของวงเงินกู้ และพ.ร.ก.เพิ่มเติมเงินกู้วงเงิน 5 แสนล้านบาท ให้ได้ไม่น้อยกว่า 50% ของวงเงินกู้

6. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดย (1) การควบคุมการระบาดภายในประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน (2) การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติ และออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง (3) การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ (4) การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก และอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น (5) การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงการขับเคลื่อนการเกิดของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน 4 ภาค และ (6) การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

7. การดูแลเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมแก่ปัญหาเศรษฐกิจและเป็นอุปสรรคต่อความเชื่อมั่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบาง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ควบคู่ไปกับการติดตามและเฝ้าระวังความผันผวนและแรงกดดันด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความรุนแรงและความยืดเยื้อในการระบาดภายในประเทศ และการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้ของภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ


แท็ก สภาพัฒน์   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ