นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ในการรับมือสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงและยาวนานมากขึ้นกว่าที่คาดไว้ มาตรการหรือแนวทางแก้ปัญหาที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ได้นั้น เห็นว่ามาตรการด้านการคลังจะมีบทบาทและความจำเป็นอย่างมากที่จะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย โดยจะต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนกับมาตรการการคลังที่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจหรือมีตัวคูณ (multiplier) สูง เช่น มาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (co-pay) อาทิ มาตรการคนละครึ่ง และมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ
พร้อมกันนี้ ยังมองว่า ขนาดของรายได้ที่จะหายไปประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท ระหว่างปี 63-65 จากผลกระทบของวิกฤติโควิดในประเทศนนั้น เม็ดเงินของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลังเพื่อช่วยให้รายได้และฐานะทางการเงินของประชาชนและ SMEs กลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งการกู้เงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะช่วยให้ GDP กลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะยาวปรับลดลงได้เร็วกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่ม
ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า หากรัฐบาลกู้เงินเพิ่มเติมอีกราว 1 ล้านล้านบาท คาดว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ของ GDP ในปี 67 แต่จะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว เนื่องจากฐานภาษีจะไม่ได้ลดลงจากแผลเป็นของเศรษฐกิจมากนัก
เมื่อเทียบกับกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม พบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 74) จะต่ำกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่มเติมถึงกว่า 5%
"ดังนั้น หากรัฐบาลไม่เร่งพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตยืดเยื้อ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP แม้จะเพิ่มขึ้นช้า แต่จากการประมาณการ คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงและปรับลดลงได้ไม่มากนักในระยะยาว" นายเศรษฐพุฒิระบุ
ขณะเดียวกัน การกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท ที่แม้จะส่งผลให้หนี้สาธารณะขึ้นไปแตะระดับ 70% ของจีดีพีนั้น แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวล เนื่องจากสภาพคล่องในระบบยังมีเพียงพอรองรับกับการกู้เงินของภาคการคลัง พร้อมเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลควรทำในระยะยาว คือ การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากปัจจุบันที่เก็บอยู่ในอัตรา 7% ซึ่งทุก 1% ที่ปรับขึ้นจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลได้ถึง 6 หมื่นล้านบาท
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง ธุรกิจ และประชาชนต้องปรับตัวอย่างมาก ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการ และประชาชนถูกเลิกจ้าง ปัญหาที่ชัดเจน คือ รายได้ที่หายไป และจะหายไปเป็นเวลานาน โดยที่ผ่านมาจะเห็น 4 อาการที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ดังนี้
อาการแรก คือ "หลุมรายได้" ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจไทยที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของโควิด โดยในช่วงปี 63-64 คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท จากนายจ้างและอาชีพอิสระ 1.1 ล้านล้านบาท และลูกจ้าง 7 แสนล้านบาท มองไปข้างหน้า การจ้างงานคงฟื้นตัวไม่เร็วและรายได้จากการจ้างงานในปี 65 คาดว่าจะหายไปอีกราว 8 แสนล้านบาท ซึ่งหมายถึงในปี 63-65 หลุมรายได้อาจมีขนาดถึง 2.6 ล้านล้านบาท
อาการที่สอง การจ้างงานถูกกระทบรุนแรง โดยเฉพาะกิจการในภาคบริการและกิจการที่มีสายป่านสั้น โดยข้อมูลการจ้างงานในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ สะท้อนความเปราะบางสูง ได้แก่ (1) ผู้ว่างงาน/เสมือนว่างงาน (ผู้มีงานทำไม่ถึง 4 ชม./วัน) อยู่ที่ 3 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านคน ณ สิ้นปี 64 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดกว่า 1 ล้านคน (2) ผู้ว่างงานระยะยาว (เกิน 1 ปี) 1.7 แสนคน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึงกว่า 3 เท่าตัว (3) ตัวเลขผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนอยู่ที่ 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดถึง 8.5 หมื่นคน และ (4) แรงงานย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนาที่เพิ่มขึ้นจากภาคบริการ/อุตสาหกรรมในเมือง กลับไปยังภาคเกษตรที่มีผลิตภาพต่ำกว่า ล่าสุดอยู่ที่ 1.6 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อปีในช่วงก่อนโควิดที่ 5 แสนคน
อาการที่สาม การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่เท่าเทียม (K-shaped) แม้จะมีภาคการผลิตเพื่อส่งออกที่ฟื้นตัวเกินระดับก่อนโควิดแล้วถึงเกือบ 20% จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่สถานการณ์เบากว่าไทย แต่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกนี้ จ้างงานเพียง 8% ทำให้ผู้ได้ประโยชน์มีน้อย เทียบกับแรงงานในภาคบริการที่มีสูงถึง 52% ที่ส่วนใหญ่ยังเดือดร้อน โดยรวมจึงยังทำให้ความเป็นอยู่ของครัวเรือนยังเปราะบาง
อาการที่สี่ ไทยถูกกระทบจากโควิด-19 หนักกว่าและจะฟื้นช้ากว่าประเทศในภูมิภาค เนี่องจากไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดในเอเชีย คือ 11.5% ของ GDP ทำให้ทั้งปี 63 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยหดตัวถึง -6.1% ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลา 3 ปี จากช่วงเริ่มระบาดในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด ขณะที่เอเชียโดยรวมใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ GDP ของไทยยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิด 4.6% ขณะที่เอเชียโดยรวมฟื้นตัวเหนือระดับก่อนโควิดแล้ว
"ปัญหาของวิกฤตครั้งนี้มาจาก 3 ด้าน คือ 1) ปัญหาด้านสาธารณสุขที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤต 2) ปัญหาด้านรายได้ ที่เป็นปัญหาหลักและจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างหากไม่ได้รับการเยียวยาที่ทันการณ์ และ 3) ปัญหาภาระหนี้ ซึ่งเป็นผลพวงของรายได้ที่หายไป ซึ่งในการแก้ไขทั้ง 3 ปัญหา หัวใจ คือ การแก้ไขตามอาการ" นายเศรษฐพุฒิกล่าว
โดยด้านแรก โควิดเป็นวิกฤติที่เริ่มต้นจากระบบสาธารณสุข การแก้ปัญหา "ตามอาการ" จึงต้องอาศัยเครื่องมือด้านสาธารณสุข ที่สำคัญ คือ วัคซีน และมาตรการควบคุมการระบาด วัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เป็นเครื่องมือหลักที่จะทำให้การระบาดหยุดลงยั่งยืน ระหว่างนี้ ประชาชนจึงควรต้องได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างเพียงพอ และการกระจายฉีดอย่างเหมาะสม เพื่อลดอัตราการตายและติดเชื้อ และให้กำลังการตรวจหาโรคมีเพียงพอ ซึ่งจะช่วยลดความกังวลและช่วยให้บริหารจัดการการระบาดได้ ดีขึ้น ลดโอกาสการล็อกดาวน์หรือจำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจ รายได้จึงจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ด้านที่สอง ในระหว่างที่สังคมไทยรอการเกิดภูมิคุ้มกันที่มากพอจากการฉีดวัคซีน ภาครัฐจะมีบทบาทในการการเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจและครัวเรือน และดูแล "หลุมรายได้" ที่คาดว่าจะใหญ่ถึง 1.8 ล้านล้านบาทตลอดปี 63-64 โดยเฉพาะในช่วงที่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน อีกทั้งการใช้จ่ายของประชาชนยังจะหมุนเวียนไปสู่ธุรกิจต่าง ๆ ให้ดำเนินต่อไป รักษาการจ้างงานไว้ได้ และไม่ต้องมีภาระหนี้สินล้นพ้นตัว
นอกจากภาครัฐ ยังมีธุรกิจการส่งออก ธุรกิจขนาดใหญ่หลายกลุ่ม และประชาชนบางกลุ่มยังมีรายได้และเงินออมสูงที่ยังมีกำลังซื้อในการพยุงเศรษฐกิจได้ แต่จากภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ภาคเอกชนระมัดระวังการใช้จ่าย และเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ไม่มาก จึงมีเพียงภาครัฐที่ยังขับเคลื่อนได้
"ภาคการส่งออก แม้จะเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว โดยในปีนี้ คาดว่าส่งออกไทยเติบโตได้ถึง 17.7% จากปีก่อนหน้า ช่วยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 6.9% แต่เมื่อหักการนำเข้าสินค้าที่ส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก ทำให้สุทธิแล้วช่วย GDP ได้เพียง 0.5% ซึ่งยังไม่สามารถชดเชยหรือเติมเต็มหลุมรายได้ที่หายไปได้ นอกจากนี้ การจ้างงานในภาคการส่งออกมีสัดส่วนเพียง 8% ของกำลังแรงงาน ก็ยังไม่เห็นสัญญาณการจ้างงานเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกไม่สามารถพยุงเศรษฐกิจได้เต็มที่นัก" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
ดังนั้น ด้วยขนาดของรายได้ที่จะหายไป (ประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท ระหว่างปี 63-65) เม็ดเงินของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลังเพื่อช่วยให้รายได้และฐานะทางการเงินของประชาชนและ SMEs กลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด และลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่จะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจหลังโควิด ซึ่งในเบื้องต้น เม็ดเงินจากภาครัฐที่เติมเข้าไปในระบบควรมีอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 7% ของ GDP
พร้อมมองว่า ปัจจุบันเสถียรภาพทางการคลังของไทยยังแข็งแกร่ง ภาครัฐยังมีศักยภาพในการก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ เนื่องจากหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 56% ณ มิ.ย.64 ซึ่งหนี้สาธารณะของไทยเกือบทั้งหมด คือ 98.2% เป็นหนี้ในประเทศ และต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลไทยอยู่ในระดับต่ำ ไม่เป็นข้อจำกัดต่อภาระทางการคลัง สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปีของไทยที่ ณ วันที่ 15 ส.ค.64 อยู่ที่ไม่ถึง 1.6% ซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของอาเซียน
ทั้งนี้ เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ และเพิ่ม room ของการทำนโยบายไว้รองรับภาระทางการคลังและความเสี่ยงในอนาคต รัฐบาลต้องมีมาตรการรัดเข็มขัดในระยะปานกลางเพื่อให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP กลับลงมาในระยะข้างหน้า อาทิ การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีผ่านการขยายฐานภาษี และการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ พร้อมทั้งปรับอัตราภาษีบางประเภทให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด สำหรับการใช้จ่าย มาตรการเงินโอนควรต้องตรงจุด และควรกำหนดเงื่อนไขของการได้รับเงินโอน พร้อมทั้งควบคุมรายจ่ายประจำ และเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุน
นอกจากนี้ หากภาครัฐทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวตามศักยภาพได้เร็ว จะช่วยเร่งการเข้าสู่ความยั่งยืนทางการคลังได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากฐานภาษีและความสามารถในการจัดเก็บภาษีจะเพิ่มขึ้น เช่น กรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว หากรัฐบาลปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ขึ้น 1% จากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ในอัตรา 7% จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลงเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 0.33% ต่อ GDP
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า สำหรับมาตรการทางการเงินของ ธปท. จะเป็นมาตรการเสริมในการช่วยดูแลภาระหนี้ และเติมสภาพคล่องให้กับผู้ได้รับผลกระทบที่รายได้หายไปชั่วคราว โดยที่ผ่านมามีการดำเนินการหลายมิติ ครอบคลุมลูกหนี้ที่หลากหลาย และถูกปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความช่วยเหลือไปถึงผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจริง โดยมิติแรก คือ การแก้ไขหนี้เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของลูกหนี้ภายใต้สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้เป็นวงกว้าง รุนแรง ยาวนาน ส่วนมิติที่สอง คือ การเติมสภาพคล่องที่อาจต้องดำเนินควบคู่ไปกับการสร้างรายได้และบรรเทาภาระหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้ยังดำรงชีวิตและดำเนินธุรกิจไปได้ในช่วงวิกฤตนี้ก่อน ซึ่งในปัจจุบัน สภาพคล่องในระบบการเงินของไทยยังมีเพียงพอ และอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมต่าง ๆ อยู่ในระดับต่ำ
โดยแนวทางในการแก้ไขหนี้ที่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่า และช่วยลูกหนี้ได้จริง คือ (1) การปรับให้ภาระการจ่ายหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ต่ำลงมาก เพื่อให้เจ้าหนี้ยังติดต่อลูกหนี้ได้ หรือ "ลูกหนี้สบายตัว เจ้าหนี้สบายใจ" และ (2) การผลักดันให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ครอบคลุม เพื่อดูแลลูกหนี้ที่มีจำนวนมากให้ได้อย่างทันการณ์
สำหรับการพิจารณาการปรับลดเพดานดอกเบี้ยของผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ นั้น ผู้ว่าฯ ธปท. เห็นว่า ในการออกแบบมาตรการช่วยลูกหนี้ในภาวะวิกฤติที่มีความเสี่ยงสูงเช่นนี้ บางมาตรการแม้จะอาจช่วยแบ่งเบาภาระให้ลูกหนี้ได้ แต่ต้องชั่งน้ำหนักอย่างระมัดระวังถึงผลได้ผลเสียหรือผลข้างเคียงโดยละเอียดก่อน โดยเฉพาะผลลบที่อาจเกิดต่อตัวลูกหนี้เอง
การพิจารณาเรื่องเพดานดอกเบี้ยต้องมองให้รอบด้าน โดยหลักการ คือ เพดานต้องไม่สูงมาก จนทำให้ลูกหนี้มีภาระดอกเบี้ยสูงเกินไป ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ต่ำเกินไป จนเจ้าหนี้มีรายได้ไม่คุ้มต้นทุนการทำธุรกิจ (ต้นทุนเงิน ต้นทุนความเสี่ยง ต้นทุนบริหารจัดการ) และให้ลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงไปสู่การกู้เงินนอกระบบที่ดอกเบี้ยแพงกว่ามาก โดยในภาวะปัจจุบัน หากจะปรับเพดานดอกเบี้ยลงอีก มีประเด็นที่ต้องพิจารณาให้รอบด้าน ได้แก่ 1.ผลที่จะได้จากการลดภาระหนี้เดิม ซึ่งอาจมีจำกัด 2.สำหรับผู้กู้ใหม่ การปรับลดเพดานดอกเบี้ยในช่วงที่ความเสี่ยงสูง ทำให้เจ้าหนี้เข้มงวดขึ้นและอาจทำให้ลูกหนี้เข้าไม่ถึง ต้องออกไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ 3. สำหรับผู้กู้เดิมที่จะกู้ต่อ จะมีกลุ่มลูกหนี้ที่ถูกเก็บดอกเบี้ยเท่ากับเพดานในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง หากลดเพดานดอกเบี้ย กลุ่มดังกล่าวอาจถูกผลักไปใช้สินเชื่อนอกระบบแทนได้เช่นกัน
"ดังนั้น ระหว่างการพิจารณาผลกระทบต่อลูกหนี้ในเรื่องการปรับเพดานดอกเบี้ย แนวทางที่น่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากกว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเสี่ยงสูง คือ การขยายเพดานวงเงินให้เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อให้คนที่เสี่ยงสูงยังอยู่ในระบบต่อไป และเสริมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้เดิม" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ
สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการออกมาตรการใหม่ คือ การขับเคลื่อนให้มาตรการต่าง ๆ ของ ธปท. สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้จริงและรวดเร็วทันสถานการณ์ โดยที่ผ่านมา ธปท. ดำเนินการในหลายมิติ ได้แก่
1. หารือกับ stakeholder ที่เกี่ยวข้อง ทั้งลูกหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจผ่านสมาคมต่าง ๆ เช่น หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับทราบปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดต่าง ๆ
2. ในส่วนของ ธปท. ได้พิจารณาปรับกฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เอื้อต่อการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ต่อเนื่อง รวมถึงปรับลดข้อจำกัดในการเข้าถึงมาตรการ
3. ธปท. ได้หารือกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการเพิ่มแรงจูงใจและลดต้นทุนการทำธุรกรรม
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ปัญหาหลัก คือ ทรัพยากรทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนสำหรับการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนมีจำกัด ไม่พอที่จะช่วยทุกคนให้ได้ทุกเม็ดอย่างเต็มที่ ทำให้ต้องมีการชั่งน้ำหนักให้ความช่วยเหลือที่จะเกิดผลดีที่สุด จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะประคับประคองสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปด้วยกันได้ เพื่อบริหารจัดการใน 3 ด้านสำคัญ คือ 1.ด้านสาธารณสุข ต้องเน้นการบรรเทาความเสี่ยงและควบคุมการระบาดให้ได้โดยเร็ว 2.ด้านงบประมาณ ต้องมุ่งช่วยเหลือเยียวยาผู้เดือดร้อนหนักตามอาการให้ทันการก่อน 3.ด้านความสามารถในการจัดการหนี้ ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เป็นเจ้าหนี้มีจำกัด ทำให้ต้องเน้นการช่วยเหลือตามอาการ ดังนั้น ลูกหนี้ดีที่ยังสามารถชำระหนี้ได้ ขอให้เดินหน้าชำระต่อเพื่อลดภาระในอนาคต และช่วยลูกหนี้รายอื่นให้ได้รับความช่วยเหลือเต็มที่
ผู้ว่าฯ ธปท. ยังกล่าวถึงสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าด้วยว่า การดูแลค่าเงินบาทของ ธปท. ใช้นโยบาย Flexible Inflation Targeting ซึ่งไม่มีระดับอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในใจว่าจะต้องดูแลให้เงินบาทอยู่ในระดับใด สิ่งสำคัญคือ ธปท.จะดูแลไม่ให้เงินบาทเคลื่อนไหวเร็วเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งดูแลไม่ให้เกิดการเก็งกำไรค่าเงิน โดยจะดูแลค่าเงินบาทให้สะท้อนกับปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง