สนพ.เล็งขยายกรอบวงเงินกองทุนน้ำมันตรึงราคา LPG ต่อเนื่องหลังราคาตลาดโลกสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 16, 2021 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) โลกยังทรงตัวระดับสูง ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 671 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ส่งผลให้ราคาขายปลีกที่แท้จริงอยู่ที่ 381 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าที่ภาครัฐกำลังตรึงราคาไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ถึง 63 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม

สาเหตุที่ราคา LPG โลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะวิกฤติโลกร้อนส่งผลให้ช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมามีช่วงเวลายาวนานทำให้หลายประเทศต่างมีความต้องการใช้ LPG เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมีการใช้มากขึ้นในภาคปิโตรเคมีและภาคอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีผลิตพลาสติก เป็นต้น และทำให้ราคาสูงขึ้นมาก

ดังนั้นจึงส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องใช้เงินเพื่อตรึงราคา LPG เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามหากราคา LPG ไม่เกิน 700 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน กองทุนฯยังสามารถดูแลราคา LPG ได้จนถึงสิ้นปี 64 นี้ แต่อาจต้องขยายกรอบวงเงินอุดหนุนราคา LPG เพิ่มขึ้นจาก 18,000 ล้านบาท เป็น 21,000-22,000 ล้านบาท หรือขยายกรอบวงเงินเพิ่มอีก 3,000-,4000 ล้านบาท

ทั้งนี้ มาตรการตรึงราคาขายปลีก LPG ในประเทศที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ล่าสุดกระทรวงพลังงานกำหนดให้ตรึงราคาระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย. 2564 นี้ โดยที่ผ่านมาสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) ระบุว่า มีกรอบวงเงินชดเชยราคาไม่เกิน 18,000 ล้านบาท แต่ใช้ไปแล้วรวมประมาณ 15,000 ล้านบาท ดังนั้นวงเงินที่เหลือ 3,000 ล้านบาทดังกล่าว จะสามารถชดเชยราคา LPG ได้อีกแค่ 3 เดือน หรือสิ้นสุด ก.ย. 2564 เท่านั้น และอาจต้องขอขยายกรอบวงเงินเพิ่มขึ้นต่อไป โดยกองทุนน้ำมันฯยังเหลือเงินในบัญชีน้ำมันอยู่ประมาณ 17,000 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่มีรายจ่ายรวมประมาณ 1,800 ล้านบาทต่อเดือน

ส่วนสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แบบตลาดจร(Spot) ปรับตัวสูงขึ้นมากถึงระดับ 16.6 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งสูงกว่าปี 2563 ที่อยู่ระดับ 7-9 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ขณะราคาก๊าซฯ Pool เฉลี่ยอยู่ประมาณ 7 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ดังนั้นหากภาครัฐต้องนำเข้า LNG เพื่อมาทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย กรณีการผลิตก๊าซฯในแห่งเอราวัณไม่ต่อเนื่องในช่วงรอยต่อหมดสัญญาอายุสัมปทานเดือนเม.ย. 65 อาจส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าประชาชนได้

อย่างไรก็ตาม สนพ. กำลังเฝ้าสังเกตการณ์ราคา LNG โลกอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าราคาจะปรับลดลงในต้นปี 65 ส่วนปลายปี 64 ยังเป็นช่วงอากาศหนาว ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้ LNG สูงและราคาทรงตัวระดับสูงต่อไป ทั้งนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯจากแหล่งอื่นๆในอ่าวไทยมาเสริมระบบได้หรือไม่ หรือหากต้องนำเข้า LNG มาใช้แทนแหล่งเอราวัณบางส่วนจะต้องใช้เท่าไหร่

ส่วน LNG โควต้า 4.8 แสนตัน ประจำปี 2564 ที่กระทรวงพลังงานจัดสรรให้ผู้ได้รับใบนุญาตจัดหาและนำส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper) รายใหม่นำเข้าได้นั้น ขณะนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) อยู่ระหว่างการสอบถามความต้องการนำเข้าจาก Shipper แต่ละรายอยู่ โดยหากราคานำเข้า LNG ปลายปี 2564 มีราคาสูง ทาง Shipper ต้องแบกรับภาระเองทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ