รมว.พาณิชย์ ยัน JTEPA ไม่ได้เปิดเสรีด้านบริการขนส่งตามที่ สร.รฟท.อ้าง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 31, 2007 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          รมว.พาณิชย์ เผยการจัดทำข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(JTEPA) ไม่ได้เป็นการเปิดเสรีด้านบริการขนส่งสินค้าตามที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) อ้าง เพียงแค่ให้นักธุรกิจญี่ปุ่นเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจให้บริการที่ปรึกษาโลจิสติกส์แค่ 51% เท่านั้น เชื่อต้นเหตุของปัญหามาจากการปรับโครงสร้างภายใน
"ผมคิดว่าเป็นความเข้าใจผิดในเรื่องของข้อมูลมากกว่า เพราะเราไม่ได้เปิดภาคขนส่งให้ญี่ปุ่นเลย แต่หากเปิดให้ญี่ปุ่นแล้วทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของเราถูกลง การขนส่งเร็วขึ้นก็น่ายินดี หน่วยงานรัฐวิสาหกิจไทยต้องปรับปรุงประสิทธิภาพอยู่แล้ว ซึ่งกระทรวงคมนาคมดูแลอยู่ แต่ในเรื่องของการเจรจาเมื่อ 4-5 ปีก่อนก็มีตัวแทนของคมนาคมอยู่ด้วยก็น่าจะทำความเข้าใจกับ รฟท.ได้" นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ กล่าว
ภายใต้กรอบข้อตกลง JTEPA ไม่ได้เปิดเสรีภาคบริการให้ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจากเดิมมากนัก มีเพียงไม่กี่สาขาที่ให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนได้มากถึง 70% แต่ไม่ใช่ในภาคการขนส่ง สำหรับการเปิดเสรีบริการที่ปรึกษาโลจิสติกส์ ญี่ปุ่นจะถือหุ้นได้ 51% เท่านั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะอ้างว่าได้รับผลกระทบจาก JTEPA ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะส่งเจ้าหน้าที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศไปชี้แจงทำความเข้าใจกับ สร.รฟท.อีกครั้ง
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีสินค้าหลายรายการที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมกันทำแผนส่งเสริมการส่งออกระหว่างกันแล้ว เช่น กลุ่มอาหาร ที่ฝ่ายไทยได้ร่วมกับห้างซูเปอร์มาร์เก็ตของญี่ปุ่นที่มีสาขาทั่วประเทศทำแผนโปรโมชั่นสินค้าไทยตลอดปี ส่วนสินค้าอัญมณีและสิ่งทอ ได้มีการจับคู่ทางธุรกิจ และทำการตลาดร่วมกันบ้างแล้ว
ขณะเดียวกันกรมการค้าต่างประเทศอยู่ระหว่างการออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการขอรับเอกสารการส่งออกภายใต้เจเทปา โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่มีโควตา ซึ่งบางชนิดไทยไม่เคยกำหนดโควตามาก่อน จึงต้องทำอย่างละเอียดเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่เป็นการหาประโยชน์จากใบอนุญาต
ด้าน น.ส.ปิยะนุช มาลากุล ณ อยุธยา รองประธานคณะกรรมการกฎระเบียบและการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สินค้าเกษตรที่ไทยไม่เคยมีโควตาส่งออกมาก่อน และเกรงว่าจะมีปัญหาได้ เช่น กล้วย หมูแปรรูป กรมการค้าต่างประเทศจึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการขอใบอนุญาตให้ชัดเจน
"ไม่เช่นนั้นอาจเปิดช่องให้คนที่ไม่เคยส่งออกมาก่อนได้โควตาไปนอนกอด หรือเอาโควตาไปขายต่อให้ผู้ส่งออกตัวจริง ปัญหาเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และไม่อยากให้เกิดขึ้นซ้ำอีก" น.ส.ปิยะนุช กล่าว
นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การประท้วงของพนักงาน รฟท.ครั้งนี้น่าจะมาจากความไม่พอใจในการปรับโครงสร้างภายในของ รฟท.ให้เหมือนกับรถไฟของญี่ปุ่นมากกว่า ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับ JTEPA เลย เป็นความกลัวไปเองของพนักงาน รฟท.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ