นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบการบริหารการนำเข้ามะพร้าวผลตามกรอบความตกลง AFTA ปี 2564 ช่วงที่ 2 (ก.ย.-ธ.ค.64) โดยใช้ผลการรับซื้อผลผลิตมะพร้าวในประเทศของผู้ประกอบการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-6 ส.ค.64 มาพิจารณาจัดสรรปริมาณนำเข้าให้แก่ผู้มีสิทธินำเข้าในอัตรา 1:2.5 คือ ให้นำเข้า 1 ส่วน ต่อการรับซื้อมะพร้าวผลในประเทศ 2.5 ส่วน จำนวน 15 ราย รวมปริมาณจัดสรรนำเข้า 78,477 ตัน โดยการนำเข้าต้องเป็นไปตามประกาศกรมการค้าต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังกำหนดมาตรการปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก คณะกรรมการพืชน้ำมันฯ ได้มีมติเห็นชอบการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure : SSG) ภายใต้ความตกลง WTO ปี 2564 โดยใช้หลักการคำนวณ Trigger Volume ที่ปริมาณสินค้ามะพร้าว 311,235 ตัน ซึ่งคำนวณจากข้อมูลปริมาณการนำเข้ามะพร้าวย้อนหลังเฉลี่ย 3 ปี (2561-2563) โดยหากมะพร้าวที่นำเข้ามาในประเทศไทยรวมกันเกินกว่าปริมาณ 311,235 ตัน ตามที่ Trigger Volume กำหนด ทางกรมศุลกากรจะจัดเก็บอากรในอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยการนำเข้าภายใต้ความตกลง WTO นอกโควตาจะเก็บอากร 72% (จากเดิม 54%) และภายใต้ความตกลง AFTA จะเก็บอากรเป็น 72% (จากเดิม 0%)
ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (SSG) ตามที่คณะกรรมการพืชน้ำมันฯ เสนอเรียบร้อยแล้ว ทางกรมศุลกากรจะเร่งดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการเก็บอากรศุลกากรตามมาตรการปกป้องพิเศษ ตามความตกลงการเกษตรขององค์การการค้าโลก และความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน สำหรับสินค้ามะพร้าว และประกาศกำหนดวันเริ่มใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (SSG) โดยกรมศุลกากร จะมีการส่งข้อมูลการนำเข้าสินค้ามะพร้าวในพิกัดดังกล่าวให้ สศก.ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพืชน้ำมันฯ ทราบเป็นรายสัปดาห์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการแจ้งเตือนเมื่อมีการนำเข้าถึงปริมาณที่ Trigger Volume กำหนด ก่อนดำเนินการจัดเก็บอากรในอัตราที่เพิ่มขึ้นต่อไป โดยมาตรการ SSG จะมีผลบังคับใช้สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค.64
สศก.คาดการณ์ว่า ปี 2564 (ข้อมูล ณ ส.ค.64 ) จะมีผลผลิตมะพร้าว 0.876 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 1.269 ล้านตัน และคาดว่าในปีนี้จะมีการนำเข้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์รวม 0.418 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการใช้ในช่วงครึ่งปีแรกยังคงชะลอตัว ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคามะพร้าวผลใหญ่ที่เกษตรกรขายได้ในเดือน ส.ค.64 เฉลี่ยผลละ 8.19 บาท ลดลงจาก 11.91 บาท ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือลดลง 31.23%