นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 มีมติอนุมัติมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม เพื่อให้มาตรการทางการเงิน ช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ได้มากขึ้น ในระหว่างที่ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข เนื่องจากมองว่าสถานการณ์การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงขึ้น การฟื้นตัวจะช้าออกไปและไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนัก รายได้และการจ้างงานที่ลดลง ส่งผลซ้ำเติมฐานะการเงินที่เปราะบางของธุรกิจและครัวเรือน
สำหรับมาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ประกอบด้วย
1. การรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เพื่อให้สามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจและเพียงพอต่อการดำรงชีวิต
(1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูสำหรับลูกหนี้ SMEs โดย ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2564 ธปท. อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 92,316 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายร่วมระหว่าง ธปท. กับสถาบันการเงินที่ 1 แสนล้านบาทได้ก่อนเดือนตุลาคม 2564 โดยสินเชื่อกระจายตัวได้ดีและครอบคลุมลูกหนี้จำนวน 30,194 ราย เฉลี่ยรายละ 3.1 ล้านบาท ซึ่งเป็นลูกหนี้ธุรกิจขนาดเล็ก (42.6%) ประกอบธุรกิจการพาณิชย์และบริการ (67.5%) และเป็นลูกหนี้ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด นอกเขตกรุงเทพและปริมณฑล (68.5%) อย่างไรก็ดี ธปท. ประเมินว่าภาคธุรกิจยังมีความต้องการสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
ที่ผ่านมา ธปท. ได้หารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบธุรกิจผ่านสมาคมต่าง ๆ เช่น หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดต่าง ๆ ของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และเห็นควรให้ขยายวงเงินสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมต่ำหรือไม่เคยมีวงเงินมาก่อน ที่เดิมอาจไม่ต้องพึ่งพาสินเชื่อจากสถาบันการเงิน รวมถึงเพิ่มการค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มเสี่ยง เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายที่เปราะบางได้มากขึ้น
(2) ผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อย ในส่วนของบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เพื่อบรรเทาภาระการจ่ายชำระหนี้ ตลอดจนเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้เป็นการชั่วคราว โดย
- ขยายเพดานวงเงินสำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท
- คงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตที่เคยผ่อนคลายไว้ก่อนหน้า
- ขยายเพดานวงเงินและระยะเวลาชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล
ทั้งนี้ การผ่อนปรนเกณฑ์ดังกล่าว จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อในระบบและลดความจำเป็นของลูกหนี้ที่อาจถูกผลักไปใช้สินเชื่อนอกระบบในระยะต่อไป
2. การแก้ไขหนี้เดิมให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันและช่วยเหลือลูกหนี้ได้จริง ที่ผ่านมา สถานการณ์การระบาดมีความไม่แน่นอนสูง เดิมคาดว่าจะควบคุมได้และคลี่คลายในเวลาไม่นาน ทำให้เน้นการแก้ปัญหาแบบระยะสั้น เช่น การพักชำระหนี้เป็นครั้งคราว หรือปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะสั้นเป็นหลัก แต่สถานการณ์มีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่คาดมาก การแก้ปัญหาแบบเดิมจึงไม่ตอบโจทย์ และไม่ได้ทำให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้พูดคุยเพื่อประเมินสถานการณ์ หรือหาทางแก้ไขที่จะช่วยให้ภาระของลูกหนี้ลดลงจริง ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ธปท. จึงส่งเสริมให้เกิดการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน โดยเน้นให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบระยะยาว และคำนึงถึงหลักการดังต่อไปนี้ (1) มองสถานการณ์ระยะยาว โดยกำหนดการจ่ายคืนหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ปัจจุบันที่ลดลงมากและทยอยจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้กลับมา (2) สามารถช่วยลูกหนี้จำนวนมากได้เร็ว (3) ตรงจุดให้เหมาะกับ ปัญหาของลูกหนี้แต่ละรายที่มีปัญหาและการฟื้นตัวต่างกัน (4) เป็นธรรมกับทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายผ่านความยากลำบากไปด้วยกัน นอกจากนี้ ต้องไม่สร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม (moral hazard) ให้กับลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ความช่วยเหลือไปสู่กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นเป้าหมายที่แท้จริงอย่างได้ผล และรักษาสมดุลและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินโดยรวม เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์การส่งผ่านความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ลูกหนี้ในภาวะวิกฤต ธปท. จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้
2.1 สถาบันการเงินสามารถคงการจัดชั้นสำหรับลูกหนี้รายย่อย และ SMEs (ตามนิยามของสถาบันการเงิน) ที่เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว ได้จนถึง 31 มีนาคม 2565 เพื่อเอื้อให้สถาบันการเงินและลูกหนี้มีเวลาเพียงพอในการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิผลในระยะยาว
2.2 การใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองอย่างยืดหยุ่นไปจนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อลดภาระต้นทุนสำหรับสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างยั่งยืน ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยวิธีที่นอกเหนือไปจากการขยายเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว เช่น การเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อจากระยะสั้นเป็นระยะยาวร่วมกับการปรับโครงสร้างหนี้วิธีอื่น ๆ การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีการให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ รวมถึงการลดภาระการผ่อนชำระให้ลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยจูงใจให้เกิดการส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ 2.3 การขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือ 0.23% จาก 0.46% ต่อปี ที่จะสิ้นสุดสิ้นปี 2564 นี้ ออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปในการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง
การขับเคลื่อนให้มาตรการสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบได้จริง และรวดเร็วทันสถานการณ์เป็นหัวใจสำคัญ ที่ผ่านมา ธปท. ได้หารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องเพื่อรับทราบอุปสรรค ข้อจำกัด และข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากลูกหนี้ทั้งรายย่อยและธุรกิจ รวมถึงสถาบันการเงินที่เป็นกลไกหลัก และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อปรับปรุงมาตรการให้ตอบโจทย์และตรงจุดยิ่งขึ้น ซึ่ง ธปท. จะยังติดตามและวิเคราะห์แนวทางต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะทางเลือกในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะจัดทำขึ้นเพื่อรองรับลูกหนี้แต่ละกลุ่ม (product program) รวมทั้งเร่งผลักดันให้สถาบันการเงินมีแนวทางดูแลลูกหนี้ที่ชัดเจนและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศในภาพรวม
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า ในส่วนของการปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูสำหรับลูกหนี้ SMEs นั้น เป็นการลดข้อจำกัดด้านวงเงิน เอื้อให้กุล่มเสี่ยงเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น รวมถึงลดภาระในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว เช่น ในส่วนของลูกหนี้ใหม่นั้น จะขยายวงเงินสินเชื่อให้เป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท (รวมวงเงินทุกสถาบันการเงิน) จากเดิมที่ให้วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาท (รวมวงเงินทุกสถาบันการเงิน)
นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มการค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มเสี่ยง โดยปรับลดค่าธรรมเนียมรวมสำหรับลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง (ลูกหนี้ที่มีวงเงินเดิมไม่เกิน 50 ล้านบาท และได้รับวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท หรือลูกหนี้ใหม่ ได้รับวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท) รวมทั้งการคงค่าธรรมเนียมการค้ำประกันรวม โดยลดอัตราจ่ายในช่วง 2 ปีแรกสำหรับลูกหนี้กลุ่มอื่น (ลูกหนี้ที่มีวงเงินเดิมมากกว่า 50-500 ล้านบาท และได้รับวงเงินมากกว่า 15 ล้านบาท/ หรือลูกหนี้ใหม่ที่ได้รับวงเงินมากกว่า 15 ล้านบาท)
ส่วนมาตรการรักษาสภาพคล่องเดิมและเติมเงินใหม่แก่ลูกหนี้รายย่อยนั้น จะขยายไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ประกอบด้วย 1.บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล จะคงอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิตที่ 5% ต่อไป ส่วนกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท ขยายเพดานวงเงินไม่เกินด 2 เท่าของรายได้ ไม่จำกัดจำนวนผู้ให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ 2.สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ขยายเพดานวงเงินเป็นรายละไม่เกิน 40,000 บาท และขยายเวลาการชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน
"มาตรการดังกล่าวนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม กนส.เมื่อวานนี้แล้ว การดำเนินการต่อไปในเรื่องการปรับเพดานวงเงินสินเชื่อฟื้นฟูนั้น ธปท.จะต้องไปออกประกาศ ซึ่งคาดว่าจะออกได้ช่วงต้นเดือนกันยายนนี้" น.ส.สุวรรณีระบุ