นายสักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ (จีดีพี) และปีที่ผ่านมายังเติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากการระบาดของโควิด-19 ดังนั้นแนวทางหนึ่งในการช่วยประคองให้เศรษฐกิจยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ มองว่าภาครัฐจำเป็นต้องเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ โดยอาจจะผ่านการกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท
โดย ธปท. ได้มีการทำแบบจำลองกรณีรัฐบาลมีการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อประคองเศรษฐกิจ พบว่า หากรัฐบาลมีการกู้เงินเพิ่ม และเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีนี้ จะช่วยให้จีดีพีของไทยเฉลี่ย 5 ปีข้างหน้า สามารถขยายตัวได้ที่ระดับ 3.2% แต่หากรัฐบาลไม่มีการกู้เงินเพิ่มเติม ไม่มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ภาพการขยายตัวของจีดีพีในช่วง 5 ปีข้างหน้าก็จะเติบโตได้ไม่ถึง 3%
"หากรัฐบาลมีการกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท ก็จะทำให้มีความเสี่ยงที่หนี้สาธารณะจะปรับสูงขึ้นแตะระดับ 70% ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้าได้ แต่ในระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมเรื่องการลดภาระ การรัดเข็มขัด ผ่านการปฏิรูปรายได้ การจัดเก็บภาษี การเพิ่มฐานภาษี การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการขยายฐานภาษี โดยมองว่าการที่เศรษฐกิจดีจะทำให้เราปฏิรูปเรื่องภาษีได้ง่ายขึ้น เช่น การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในช่วงที่เศรษฐกิจดีย่อมทำได้ง่ายกว่า ดังนั้นหากรัฐบาลใส่เงินได้เร็ว ก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว ถือเป็นการช่วยลดความเสี่ยงของฐานะการคลังในระยะยาวด้วย" นายสักกะภพ กล่าว