นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤติและส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วนของประเทศ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเกิดการติดเชื้อในโรงงานเป็นจำนวนมากเช่นกัน สภาอุตสาหกรรมฯ ในฐานะองค์กรหลักภาคเอกชนที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ได้จัดทำ "มาตรการควบคุมโควิดในภาคอุตสาหกรรม" เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและอาการรุนแรง พร้อมรักษากำลังการผลิตให้มากที่สุด ซึ่งโรงงานที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง จะไม่ถูกปิด หากยังสามารถดำเนินการต่อได้โดยไม่แพร่กระจายเชื้อสู่ภายนอก ภายใต้คอนเซ็ปต์ "ติดโควิดไม่ต้องปิดโรงงาน" แบ่งออกเป็น 3 ข้อ ดังนี้ คือ
1) มาตรการ Bubble and Seal สำหรับภาคอุตสาหกรรมต้องมีความชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติ ได้จริงและเป็นไปในแนวทางเดียวกันทุกพื้นที่ โดยให้สุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) สม่ำเสมอ 10% ของจำนวนพนักงาน ทุก 14 วัน โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่าย และให้พนักงานผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำสามารถกลับเข้ามาทำงานใน Bubble ในโรงงานตามปกติ
2) สถานประกอบการที่มีพนักงาน 300 คนขึ้นไป เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้ง Factory Quarantine และ Factory Accommodation Isolation โดยให้มีจำนวนเตียงๆไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนพนักงาน และเสนอให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งโรงพยาบาลแม่ข่ายในแต่ละพื้นที่ประกันสังคม เพื่อให้บริการโรงงานในพื้นที่ ณ จุดเดียว ตั้งแต่การตรวจหาเชื้อไปจนถึงส่งต่อผู้ป่วยเข้าไปในระบบการรักษา เพื่อลดขั้นตอนในการหาโรงพยาบาล
3) สำหรับสถานประกอบการที่มีพนักงานต่ำกว่า 300 คน ขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมจัดตั้ง Community Quarantine (CQ), Community Isolation (CI) (ศูนย์พักคอยและแยกกักตัว) ให้เพียงพอกับแรงงาน โดยให้มีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนพนักงานในพื้นที่
4) จัดสรรวัคซีนตามเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต โดยจัดสรรตามลำดับความสำคัญทางสาธารณสุข การป้องกันโรค และเศรษฐกิจใน 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่อายุ 40-59 ปี กลุ่มพนักงานในสถานประกอบการที่มีติดเชื้อมากกว่า 50% จนต้องปิดกิจการ และกลุ่มพนักงานในอุตสาหกรรมสำคัญยิ่งยวด
ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นการตกผลึกหลังจากหารือกับผู้บริหาร ส.อ.ท.แล้ว เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้โรงงานทุกแห่งที่มีคนงานตั้งแต่ 300 รายขึ้นไปที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ทั้ง 29 จังหวัดได้ปฏิบัติเหมือนกัน ไม่เกิดความสับสน โดยภายใน 1-2 วันนี้จะทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง เป็นต้น หากภาครัฐเห็นว่ามีข้อเสนอใดที่ไม่มีความเหมาะสมก็สามารถที่จะหารือกลับมาได้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน
"ตอนนี้มีโรงงานผลิตเพื่อการส่งออกราว 5-10% ที่กำลังการผลิตสะดุด เพราะคนงานติดเชื้อ ถ้าปล่อยไปจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกที่มีสัดส่วน 70% ของจีดีพี และยิ่งรายได้จากการท่องเที่ยวลดลง การส่งออกจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ถ้ากำลังการผลิตลดลงก็น่าจะส่งผลต่อการส่งออกให้ลดลง และทำให้จีดีพีลดลงตามไปด้วย" นายสุพันธุ์ กล่าว
สำหรับภาระค่าใช้จ่ายที่เสนอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลนั้น ได้แก่ ค่าชุดตรวจ ATK จำนวน 160 ล้านบาท/ครั้ง หากกำหนดให้มีการตรวจ 10% ทุก 14 วัน จากจำนวนแรงงาน 3.7 ล้านคน แต่หากกำหนดให้ตรวจทั้งหมดทุก 7 วันจะมีค่าใช้จ่าย 3.2 พันล้านบาท/ครั้ง ส่วนค่าจัดทำ Factory Isolation จำนวน 1 หมื่นบาท/เตียง และค่าใช้จ่ายวันละ 300 บาท/เตียง
"วันนี้รัฐได้แต่ออกคำสั่ง แต่ไม่ได้สนับสนุนเรื่องงบประมาณที่รัฐต้องรับภาระอยู่แล้ว ภาคเอกชนต้องลงทุนเองทั้งหมด บางแห่งต้องดูแลคนในชุมชนใกล้เคียงให้ด้วย...เรื่องนี้รัฐควรมีข้อสรุปที่ชัดเจนเหมือนกรณีจ่ายงบสนับสนุนให้โรงพยาบาลเอกชน อยากให้ภาครัฐเข้าใจว่าไม่ใช่ข้อเรียกร้อง เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะดูแลอยู่แล้ว ไม่ใช่ร้องขอนอกเหนือจากเรื่องปกติ เป็นความร่วมมือจากภาคเอกชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด" นายสุพันธุ์ กล่าว
ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เพิ่มเติม, การเปิดให้เอกชนเข้ามาผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อเพิ่มปริมาณให้เพียงพอ และมาตรการเยียวยานั้น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ส่งเรื่องขอเข้าพบกับนายกรัฐมนตรีไปแล้ว