น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/64 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ และสนับสนุนความต้องการสินเชื่อได้
ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้น ช่วยชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ผลประกอบการปรับดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยหลักจากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลงหลังจากการกันสำรองในระดับสูงในปีก่อน
โดยภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/64 เพิ่มขึ้น 3.7% โดยลดลงเล็กน้อยจาก 3.8% ในไตรมาสก่อนหน้า สำหรับสินเชื่อธุรกิจ SMEs ขยายตัวได้ 0.7% ซึ่งถือว่ากลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 1/59 ที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs ขยายตัวได้ 0.35%
"สินเชื่อ SME กลับมาบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี นับจากไตรมาส 1/59 ที่ติดลบมาโดยตลอด ซึ่งการกลับมาบวกในไตรมาสนี้ พบว่ามีความครอบคลุมการปล่อยสินเชื่อทั้ง sector อุตสาหกรรม, พาณิชย์ และบริการ" น.ส.สุวรรณี ระบุ
สำหรับยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan: NPL หรือ stage 3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.45 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.09% ซึ่งระดับ NPL ยังทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากมาตรการผ่อนปรนและการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ แต่ ธปท. ยังพบสัญญาณความเปราะบางของสินเชื่อรายย่อย โดยคาดว่า NPL ในไตรมาส 3 และ 4 ยังมีแนวโน้มที่จะทยอยเพิ่มขึ้นได้