นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ "จับตาการปฏิรูป WTO ยุค New Normal" ต้อนรับการประชุมรัฐมนตรีการค้า ครั้งที่ 12 (The 12th WTO Ministerail Conference: MC12) โดยกล่าวถึงความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคี และบทบาทของ WTO ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าในปัจจุบันว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของ 2 ประเทศที่แข่งขันกัน และปัญหาความตกลงว่าด้วยกฎและกระบวนการที่ใช้กับการระงับข้อพิพาท (DSU) ทำให้การปฏิรูปองค์การการค้าโลก WTO เป็นไปได้ยาก เพราะแม้จะมีการเจรจาในกรอบปกติมา 7 รอบแล้ว แต่ยังไม่มีการปฏิรูปใด ๆเ กิดขึ้น
ทั้งนี้ นายศุภชัย ได้เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลง WTO ด้วยการสร้างบทบาทให้มีความโดดเด่นขึ้นมา ประกอบด้วย 1.การทำให้สำนักงาน WTO มีความเข้มแข็ง และช่วยหาทางออกให้กับสมาชิกของ WTO และสร้างผลงานให้จับต้องได้ 2.การให้บทบาทกับประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีให้มากขึ้น ซึ่งการประชุมรัฐมนตรีการค้า ครั้งที่ 12 ( MC12 ) มองว่าจะสำเร็จหรือไม่นั้น ต้องหาแนวทางทำให้บทบาทด้านการค้าและการพัฒนามีมากขึ้น ทั้งการพัฒนาด้านการลงทุน ด้านสังคม ต้องมีแบบแผนชัดเจน
3.การทำงานร่วมกันระหว่าง WTO และองค์กรอื่น ๆ โดยเฉพาะกับองค์การสหประชาติ (UN) ควรร่วมกันนำไปสู่ข้อตกลงแบบใหม่ เช่น ข้อตกลงที่ช่วยประเทศพัฒนาน้อยที่สุด หรือควรให้ WTO ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติ หรือข้อตกลงที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาต่อโลก และประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น
นายศุภชัย มองว่า ความตกลงว่าด้วยกฎและกระบวนการที่ใช้กับการระงับข้อพิพาท (DSU) ควรมีการดำเนินการขั้นตอนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งไม่ควรให้ WTO ทำหน้าที่ในการฟ้องศาล แต่ต้องการให้มีการเจรจาด้านการทูต เพื่อนำมาสู่การยินยอมซึ่งกันและกัน สามารถตกลงกันได้ และอยากเห็นความพยายามให้มีข้อตกลงตรงกลางเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ประเทศด้อยพัฒนา ประเทศยากจนที่สุด พร้อมมองว่าควรสนับสนุนด้านการเงินหรือมีโครงการช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้
นอกจากนี้ นายศุภชัย มองว่า เมื่อสถานการณ์โควิดจบลงแล้ว สิ่งที่ WTO ควรดำเนินการคือ เปิดโอกาสให้มีการค้าเสรีมากขึ้น ทั้งด้านสินค้าอาหาร และสินค้าเกษตร เพราะหลังจากนี้โลกจะขาดแคลนอาหารเป็นจำนวนมาก และเหลือเพียงไม่มีประเทศที่สามารถผลิตอาหารได้เอง ส่วนเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ควรให้ความคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นห่วงเรื่องการเก็บภาษีให้เสมอภาค และเห็นว่าไม่ควรยอมให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่เป็นแฟลตฟอร์มดิจิทัลครองอำนาจเศรษฐกิจ
นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก กล่าวในงานเสวนา "จับตาการปฏิรูป WTO ในยุค New normal" โดยระบุว่า ดร.เอ็นโกซี โอคอนโจ-ไอวีลา ผู้อำนวยการใหญ่ WTOคนใหม่ที่รับตำแหน่งเมื่อช่วงต้นปี ได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินงานต่างๆ ที่มีความสำคัญ รวมทั้งการประชุมสำคัญที่จะเกิดขึ้นในเดือนธ.ค.64 นี้ คือการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญครั้งที่ 12 (MC12) โดยมี 4 ประเด็นที่สำคัญในการประชุม MC12 ดังนี้
1. บทบาทของ WTO ต่อการรับมือกับโรคโควิด-19 2. การสรุปผลการเจรจาอุดหนุนสินค้าประมงที่จะมีขึ้นในเดือนต.ค. 64 3. การเจรจาสินค้าเกษตร และ 4. การปฏิรูป WTO (การแก้ไขปัญหาองค์กรอุทธรณ์) ที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 65 ส่วนประเด็นอื่น ๆ เช่น E-Commerce & Trips Moratorium เป็นต้น
ด้านบทบาทของ WTO ต่อการรับมือกับโรคโควิด-19 ที่จะเน้นการอำนวยความสะดวกต่อสถานการณ์โควิด-19 เป็นหลัก โดยมีประเด็นในการหารือ คือ มาตรการจำกัดการส่งออก, การอำนวยความสะดวกทางการค้า ความร่วมมือในการปรับประสานกฎระเบียบ และภาษี, บทบาทของการค้าบริการ, ความโปร่งใสและการตรวจสอบมาตรการ, ความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ และการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และแนวทางการรับมือที่มีประสิทธิภาพต่อสถานการณ์โรคระบาดในอนาคต
ส่วนประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญานั้น เชื่อว่าจะไม่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงวัคซีน และยังคงเป็นแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนในการวิจัยคิดค้นวัคซีนที่จะมารับมือกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์โรคระบาดในอนาคต แต่เนื่องจากมีความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่ยังไม่พัฒนา จึงมีข้อเสนอที่ขัดแย้งกันระหว่าง Trips Waiver หรือการของดเว้นข้อปฎิบัติบางประการจากปัญหาทางด้านเทคโนโลยี ของประเทศอินเดีย และแอฟริกา ส่วนทางสหภาพยุโรป (EU) ได้มีมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing) จึงเป็นปัญหาที่อยู่ระหว่างการพิพาทประเด็นวัคซีนในขณะนี้
ด้านนายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยต่อผลลัพธ์ MC12 คือ เมื่อเกิดความชัดเจนมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบ และรับฟังความคิดเห็น และหากความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงมีผลบังคับใช้ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการตรากฎหมาย ระเบียบ หรือวิธีปฏิบัติและหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจนในการห้ามให้การอุดหนุนหรือห้ามคงไว้ซึ่งการอุดหนุนแก่การทำประมง IUU (Illegal, Unreported and Unregulated) ตามพันธกรณี ซึ่งต้องมีการประชุมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดต่อไป รวมถึงเตรียมการเกี่ยวกับกระบวนการและกลไกการแจ้งข้อมูลต่อ WTO เช่น ข้อมูลโครงการอุดหนุนประมง รวมทั้งข้อมูลที่กำหนดให้ต้องแจ้งเพิ่มเติม ให้เป็นไปภายใต้ความตกลงว่าด้วยการอุดหนุน
สำหรับร่างความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงฉบับปัจจุบัน ประกอบด้วย 4 หัวข้อหลัก คือ
1. การห้ามให้การอุดหนุนแก่การทำการประมง IUU คือห้ามให้หรือคงไว้ซึ่งการอุดหนุนแก่ "เรือประมง" หรือ "ผู้ประกอบการประมง" ที่ถูกตัดสินว่าทำการประมง IUU โดยรัฐเจ้าของธง (Flag State), รัฐชายฝั่ง (Costal State) หรือองค์การบริหารจัดการทรัพยากรประมงระดับภูมิภาค (RFMOs) โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกจะต้องมีกฎระเบียบ และกระบวนกรบริหาร เพื่อมั่นใจว่าไม่มีการให้หรือยังคงไว้ซึ่งการอุดหนุนประมง IUU
2. การห้ามให้การอุดหนุนแก่การทำประมงสัตว์น้ำที่อยู่ในสภาวะเสื่อมโทรม โดยห้ามให้หรือคงไว้ซึ่งการอุดหนุนแก่การทำประมงสัตว์น้ำที่ถูกประเมินว่าอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรม ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นให้ประเทศสมาชิกสามารถอุดหนุนได้ หากมีการใช้มาตรการเพื่อให้เกิดการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน
3. การห้ามให้การอุดหนุนที่นำไปสู่การทำประมงเกินศักยภาพ และการทำประมงเกินขนาด ห้ามให้หรือคงไว้ซึ่งการอุดหนุนที่นำไปสู่การทำประมงเกินขนาด ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นให้ประเทศสมาชิกสามารถให้การอุดหนุนได้ หากสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีมาตรการในการรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน
4. หัวข้ออื่น ๆ ได้แก่
4.1 การปฏิบัติที่เป็นพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนา (SDT) การให้มีข้อยกเว้น หรือระยะเวลาการเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางวิทยาการ และการเพิ่มศักยภาพเพื่อให้สมาชิกสามารถดำเนินการได้ตามพันธกรณีภายใต้ความตกลง และการทำประมงพื้นบ้าน ระบุให้การยกเว้นสำหรับการทำประมงที่มีรายได้ต่ำ ขาดแคลนทรัพยากร และเพื่อหาเลี้ยงชีพ สำหรับการทำประมงไม่เกินเขต 12 ไมล์ทะเลนับจากเส้นฐาน ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด
4.2 การแจ้งข้อมูลและความโปร่งใส กำหนดให้สมาชิกแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมในการแจ้งข้อมูลโครงการอุดหนุนประมง เช่น ประเภทหรือชนิดของกิจกรรมการทำประมงที่ได้รับการอุดหนุน, ข้อมูลการจับสัตว์น้ำรายชนิดที่ได้รับการอุดหนุน, สถานะของทรัพยากรสัตว์น้ำที่ใด้รับการอุดหนุน, มาตรการในการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ, ชื่อและหมายเลขเรือประมงที่ได้รับประโยชน์จากการอุดหนุน และศักยภาพของกองเรือประมงที่ได้รับการอุดหนุน นอกจากนี้ กำหนดให้สมาชิกแจ้งรายชื่อเรือประมงและผู้ประกอบการประมงที่ทำการประมง IUU แก่ WTO เป็นประจำทุกปี
4.3 การยกเว้นการใช้บังคับแก่การอุดหนุนภัยพิบัติธรรมชาติ
4.4 การระงับข้อพิพาท ข้อกำหนดเกี่ยวกับกระบวนการปรึกษาหารือ การระงับข้อพิพาท และการเยียวยาภายใต้ความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง
ส่วนกรอบการเจรจาการอุดหนุนประมงของไทย เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 64 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบการเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง ตามที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
1. ห้ามให้การอุดหนุนการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing)
2. ให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำที่ดีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาว่าประเทศสมาชิกสามารถให้การอุดหนุนแก่ภาคการประมงได้ต่อไปหรือไม่
3. ให้มีการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างแก่ประเทศกำลังพัฒนา
ทางด้านนโยบายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และการดำเนินการของไทย คือ
-นโยบายด้านการประมงของประเทศไทย มุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน
-การปฏิรูปภาคการประมงทั้งระบบตั้งแต่ปี 58 เพื่อขจัดและต่อต้านการทำประมง IUU และสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการประมง
-กฎหมายประมงมีความทันสมัย สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ
-มีกลไกการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในฐานะรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง และรัฐเจ้าของท่า และมีบทลงโทษที่เพียงพอต่อการขจัดและยับยั้งการทำประมง IUU เช่น เพิกถอนใบอนุญาตการทำประมง และประกาศว่าเรือนั้นเป็นเรือที่ใช้ทำการประมง IUU โทษปรับสูงสุด 30 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการกระทำความผิด และขนาดเรือประมง
-ประเทศไทยมีการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน ภายใต้แผนบริหารจัดการประมงทะเลไทย (Marine Fisheries Management Plan of Thailand: FMP) โดยมีการควบคุมจำนวนเรือ (งดจดทะเบียนเรือประมงพาณิชย์เพิ่มเติม) ควบคุมการลงแรงประมง (จำกัดจำนวนวันทำประมง) และควบคุมศักยภาพการทำประมง (จำกัดจำนวนเครื่องมือประมงประสิทธิภาพสูง) เพื่อไม่ให้เกินระดับผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน (MSY) และดำเนินมาตรการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรประมงต่าง ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนแก่ทรัพยากรสัตว์น้ำ
-ประเทศไทยเห็นว่าการอุดหนุนประมงภายใต้การบริหารจัดการทรัพยากรประมงที่ดี จะช่วยป้องกันผลกระทบทางลบ จากการอุดหนุนที่มีต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ และจะไม่นำไปสู่การทำประมงเกินขนาด และการจับปลามากเกินไป
-ในการเจรจาอุดหนุนประมงภายใต้ WTO ประเทศไทยจึงได้ผลักดันแนวทางการนำการบริหารจัดการประมงที่ดีมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาให้การอุดหนุนประมง
-ปัจจุบันแนวทางดังกล่าวได้ปรากฏอยู่ในร่างความตกลงฉบับปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยยังคงสามารถให้การอุดหนุน ที่จำเป็นต่อภาคการพัฒนาประมงต่อไปได้
-มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ภาคการประมง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรสัตว์น้ำ หรือการอุดหนุนที่ไม่เป็นอันตรายต่อทรัพยากรสัตว์ เช่น การสนับสนุนให้ชาวประมง หรือชุมชนประมงท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืน การสร้างความมั่นคงทางอาชีพ การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชาวประมงและชุมชนประมงท้องถิ่น, การสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงให้ถูกกฎหมาย หรือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพต่ำ, การสนับสนุนการปรับปรุงเรือประมงให้สอดคล้องกับข้อกำหนดด้านสุขอนามัยในเรือประมง หรือข้อกำหนดด้านสวัสดิภาพและสวัสดิการของแรงงานบนเรือประมงที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล, การสนับสนุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวังเรือประมงแบบระยะไกล เป็นต้น
-ประเทศไทยมีนโยบายไม่ให้การอุดหนุนแก่การทำประมง IUU และมีแนวปฏิบัติในการห้ามการอุดหนุนประมง เช่น โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนระยะที่ 1 (ปีงบประมาณ 62-63) และระยะที่ 2 (ปี 64 อยู่ระหว่างการดำเนินการ), โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง (ซึ่งดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน) โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการฯ "จะต้องไม่เป็นเรือประมง หรือผู้ประกอบการที่ทำการประมง IUU"
ด้านนางจุฑาทิพย์ จงวนิชย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อบทบาทของ WTO ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนี้
1. การขึ้นภาษีจากสงครามการค้า (Tariffs hike from trade war) คือการร่วมผลักดันอย่างต่อเนื่องให้กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO กลับมาดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการร่วมสนับสนุนการจัดสรรองค์กรอุทธรณ์ให้ครบองค์สมาชิก และการจัดทำข้อตกลงหลายฝ่ายเพื่อใช้อนุญาโตตุลาการในการพิจารณาอุทธรณ์เป็นการชั่วคราว รวมทั้งควรใช้ความก้าวหน้าเทคโนโลยีการสื่อสารลดระยะเวลาในแต่ละขั้นตอนภายใต้กลไกระงับข้อพิพาท เพื่อลดระยะเวลาการตั้งคณะกรรมการ (panel), ลดระยะเวลาการทำรายงานสรุปผล (final report) และหมุนเวียนให้ประเทศสมาชิกผลัดกันพิจารณา
2. ภาษีของวัคซีน และปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวข้อง (Tariffs on vaccines and related inputs) คือร่วมสนับสนุนการลดภาษีวัคซีนโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องจากโควิด-19 รวมทั้งภาษีวัตถุดิบของวัคซีน และร่วมสนับสนุนการยกเว้นสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property rights) ของวัคซีนที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับโควิด-19
ในส่วนของมาตรการที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษี คือไม่สนับสนุนให้มีการใช้ข้อจำกัดในการส่งออกกับสินค้าที่มีความจำเป็นเกี่ยวเนื่องกับการป้องกัน และรักษาโควิด-19 แต่สนับสนุนให้มีการทำข้อตกลงการยอมรับร่วมกันและความร่วมมือในระดับภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนให้ WTO ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ให้มีการศึกษาแนวปฎิบัติที่ดี ในการพิจารณาความตกลงร่วมมือที่มีลักษณะของข้อตกลงทางการค้าเชิงลึก เพื่อหาแนวทางในการขยายความร่วมมือจากระดับภูมิภาคสู่พหุภาคี
ทางด้านเทคโนโลยี (ดิจิทัล และอีคอมเมิร์ช) การควบรวมกิจการ และการคุ้มครองผู้บริโภค สนับสนุนให้ใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้ WTO เพิ่มความชัดเจนเพิ่มมากขึ้นในการวางกรอบเรื่องดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซมากกว่าการพิจารณาเรื่องการยกเว้นภาษีสินค้าที่ส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยทำการศึกษาข้อตกลงว่าด้วยอีคอมเมิร์ซ จากข้อตกลงในระดับภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อยกร่างและต่อยอดให้เป็นการพิจารณาระดับพหุพาคีได้ ประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ข้อบังคับการเก็บข้อมูลในประเทศ และการระงับข้อพิพาท เป็นต้น
นอกจากนี้ สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกมีการใช้กฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวเนื่องกับการแข่งขัน และการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างเป็นระบบและตรวจสอบได้ รวมทั้งสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกให้การสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลในส่วนของนโยบายการแข่งขัน เพื่อสามารถร่วมกันแก้ปัญหาการทำการควบรวมและซื้อกิจการโดยบริษัทข้ามชาติที่ไม่เป็นธรรมซึ่งจะนำไปสู่ความไม่เป็นธรรมของการแข่งขันต่อไป
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อมาตรการต่าง ๆ ในช่วงโควิด-19 ว่าควรมีมาตรการเร่งรัดและขยายการเข้าถึงสินค้าที่จำเป็น โดยการยกเว้นภาษีรูปแบบต่างๆ สำหรับสินค้านำเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าทางการแพทย์ และวัตถุดิบที่จำเป็นในการนำเข้ามาแปรรูป นอกจากนี้ ควรมีมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า ทั้งการผ่อนปรนกระบวนการการนำเข้า, ผ่อนคลายข้อกำหนดการอนุญาตการนำเข้า ส่งออก, รองรับใบอนุญาต ใบรับรอง SPS ในรูปอิเล็กทรอนิกส์ และการคลายกฎการติดฉลากบางอย่าง เป็นต้น
นายนิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงสภาพแวดล้อมทางการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไปหลังเกิด New Normal ว่า มีผลกระทบต่อกฎระเบียบการค้าและการบริหารจัดการของ WTO คือมาตรการสุขอนามัย ว่าด้วยความปลอดภัยของอาหาร สัตว์ และพืช, ความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการทุ่มตลาด, ความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและตอบโต้การทุ่มตลาด และการประเมินราคาสินค้าเพื่อการผ่านด่านสุลกากร
น.ส.หิรัญญา สระสม ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีความท้าทายของภาคเกษตรจากหลากหลายปัจจัย ทั้งพื้นที่เกษตรที่ลดลง, พื้นที่ชลประทานไม่เพียงพอ, การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ, เกษตรกรอายุมากขึ้น, ต้นทุนการผลิตสูงกว่าคู่แข่ง, การพัฒนาของโลกเข้าสู่เทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าสูง, ประชากรโลกเพิ่มขึ้น, ความต้องการอาหารที่มีคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยสูง, นโยบาย กฎระเบียบการค้าของประเทศคู่ค้า SPS สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน แรงงาน และกฎกติการค้าโลก WTO
จากปัญหาที่ประสบดังกล่าว ประเทศไทยจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับยุค New Normal โดยมีทิศทางของนโยบายการพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร ดังนี้
1. การวิจัยเทคโนโลยีด้านการเกษตรและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และลดต้นทุน เช่น ระบบการทำฟาร์มอัจฉริยะ การทำการเกษตรโดยการติดตามผลผ่านสมาร์ทโฟน เป็นต้น
2. การมุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยที่ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์เกษตร เน้นการเปลี่ยนรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ เช่น การวิจัยสารสกัดที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมาใช้เป็นอาหารเสริม ยา หรือเครื่องสำอาง นอกจากนี้มีการพัฒนาวิจัยการใช้ประโยชน์จากสิ่งของเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น เปลือก เมล็ดผลไม้ต่าง ๆ มาใช้เพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น
3. การเตรียมความพร้อมในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยคำนึงถึงการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
4. การวิจัยและพัฒนาอาหารทางเลือกที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น การส่งเสริมการเลี้ยงแมลง เนื่องจากประเทศไทยมีความเหมาะสมในการเป็นแหล่งผลิตแมลงระดับโลก
5. การให้เกษตรกรเข้าถึงการใช้ช่องทางออนไลน์ในการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตร เพื่อรองรับการใช้ชีวิตแบบ New Normal
"ภาคเกษตรมีความจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยี ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากภาคเกษตรของไทยจัดเป็นกลุ่มเปราะบางของสังคมไทย รวมทั้งอายุเฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ดังนั้นกระทรวงเกษตรจึงมีนโยบายสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตรมากขึ้น" น.ส.หิรัญญา กล่าว