นางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ ได้ปรับปรุงกฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 เพื่อยกระดับการอำนวยความสะดวกการส่งออกสินค้ามาตรฐานแก่ผู้ประกอบการให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่
1. กฎกระทรวงการขอจดทะเบียนเป็นผู้ทำการค้าขาออก ซึ่งสินค้ามาตรฐานและการกำหนดเงื่อนไขการทำการค้าขาออกซึ่งสินค้ามาตรฐาน พ.ศ. 2564
2. กฎกระทรวงการขอรับอนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า และการกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า พ.ศ. 2564
3. กฎกระทรวงการขอรับอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า และการกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า พ.ศ. 2564
4. กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการทำการค้าขาออก ซึ่งสินค้ามาตรฐานและการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า พ.ศ. 2564
การปรับปรุงกฎกระทรวงในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการกำกับดูแลการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเกษตรหลักสำคัญของไทย ได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย แป้งมันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดก่อนการส่งออกอย่างเคร่งครัด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก
"กรมการค้าต่างประเทศ ได้ปรับปรุงรายละเอียด หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการส่งออกสินค้ามาตรฐานและการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ตลอดจนอำนวยความสะดวกรองรับการค้ายุคใหม่ โดยมีผลบังคับใช้ 10 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป" รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศระบุ
นอกจากนี้ กรมฯ ได้มีการยกระดับการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ โดยการลดขั้นตอนและกระบวนงานที่ซ้ำซ้อน ยกเลิกการจัดเก็บค่าธรรมเนียมคำร้องและค่าแบบพิมพ์ต่าง ๆ ตลอดจนพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดเอกสารกระดาษ (Paperless) ซึ่งจะเป็นการช่วยลดระยะเวลา ต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในยุคดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง
นางมนัสนิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎกระทรวงฉบับใหม่ยังเปิดโอกาสทางการค้าและสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน เช่น สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคม ให้สามารถดำเนินธุรกิจเป็นผู้ทำการค้าขาออกซึ่งสินค้ามาตรฐานได้ เพื่อให้สามารถสร้างรายได้และพัฒนายกระดับไปสู่การเป็นผู้ส่งออกที่มีศักยภาพ ซึ่งสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง อันเป็นหัวใจหลักขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความเข้มแข็งตามนโยบายรัฐบาล