กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลง 0.9% ในปีหน้า เนื่องจากสภาพตลาดการเงินที่ตึงตัวขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งภาวะถดถอยที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจที่อยู่อาศัย
สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงานว่า ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดนั้น IMF ได้ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐลง 0.9% เหลือ 1.9% และลดการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2550 ลง 0.1% เหลือ 1.9% เช่นกัน
โดยสภาพตลาดปล่อยกู้เพื่อการจำนองที่ตึงตัวนั้น เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า การลงทุนในด้านที่อยู่อาศัยจะชะลอตัวลง ขณะที่ราคาบ้านที่ลดลงก็มีแนวโน้มว่าจะผลักดันให้ภาคครัวเรือนชาวสหรัฐเพิ่มการออมจากรายได้ปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค
ในทางตรงกันข้าม การส่งออกจะขยายตัวอย่างสดใสต่อเนื่อง เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ที่ร่วงลงและการขยายตัวที่แข็งแกร่งของประเทศพันธมิตรการค้าของสหรัฐ
รายงานของไอเอ็มเอฟได้ระบุปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐว่า ปัจจัยแรกคือ ขณะนี้ยังไม่แน่นอนว่าต้นทุนและสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากตลาดการเงินมากน้อยเพียงใด
ปัจจัยเสี่ยงที่ 2 คือ มีความเป็นไปได้ที่ช่วงขาลงของตลาดที่อยู่อาศัยในสหรัฐอาจจะปรับตัวลงมากขึ้นและยาวนานขึ้น และปัจจัยเสี่ยงที่ 3 คือ ยังไม่มีความชัดเจนว่า การขยายตัวด้านการผลิตที่ชะลอตัวลงเมื่อเร็วๆนี้นั้นจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือยาวนานกว่านี้
เมื่อพิจารณาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานแล้ว คาดว่า จะสถานการณ์จะคลี่คลายลงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคโดยรวมจะอยู่ที่ 2.3% ในปีหน้า ลดลงจากระดับปีนี้ที่ 2.7%
แม้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะลดดอกเบี้ยลง 0.50% แต่นักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟกล่าวว่า สัญญาณการขยายตัวมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่ต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการลดดอกเบี้ยลงมากกว่านี้ หากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้
ไอเอ็มเอฟเชื่อว่า แม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง แต่ก็ยังอยู่เหนือระดับมูลค่าพื้นฐานในระยะกลาง และคาดว่ายอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐน่าจะลดลงสู่ระดับ 5.5% ของจีดีพีในปี 2551 จากระดับ 5.7% ในปีนี้ เมื่อพิจารณาจากความต้องการด้านการส่งออกที่แข็งแกร่ง และความต้องการภายในประเทศที่อ่อนตัวลง
นักวิเคราะห์ของไอเอ็มเอฟไม่เชื่อว่า การคาดการณ์ของคณะผู้บริหารของผู้นำสหรัฐเรื่องงบประมาณกลางประจำปีงบประมาณ 2555 จะสมดุล นับตั้งแต่ที่ทีมบริหารของบุชไม่ได้คำนวณปัจจัยจากการผ่อนปรนด้านภาษีในระดับต่ำสุดและต้นทุนในการทำสงคราม และคาดว่ายอดขาดดุลงบประมาณสหรัฐจะยังคงอยู่เหนือระดับ 1% ของจีดีพี
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--