BAY ชูผลศึกษาโมเดลตปท.เสนอใช้เงิน 7 แสนลบ.ทำ 6 มาตรการบรรเทาผลกระทบโควิด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 24, 2021 16:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ระบุว่า จากวิกฤตโควิด-19 ที่มีความรุนแรงและยาวนาน รวมถึงมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง มาตรการเยียวยาจึงมีความจำเป็นเพื่อควบคุมการระบาดและประคองให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนไทยอยู่รอดต่อไปได้ จึงได้ศึกษาเปรียบเทียบการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ในประเทศต่างๆ

พบว่า มาตรการให้เงินสำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัว มาตรการรักษาระดับการจ้างงาน มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ และมาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือน นับเป็น 6 มาตรการที่มีความสำคัญและนโยบายที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจยังไม่เพียงพอ

โดยทั้ง 6 มาตรการมีวงเงินรวมกันประมาณ 7 แสนล้านบาทในช่วง 6 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะช่วยให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยสามารถประคองตัวอยู่ที่ 3.25% จากช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 อยู่ที่ 3.5% และเทียบกับ 3% หากไม่มีมาตรการ

เนื่องจากแม้ทางการขยายพื้นที่ท่องเที่ยวเชื่อมกับโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แต่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ล่าสุดทางการอนุมัติแนวทาง 7+7 ให้นักท่องเที่ยวในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ หากอยู่ภูเก็ต 7 วันแรกตรวจไม่พบเชื้อ สามารถเดินทางไปพักอีก 7 วันได้ในพื้นที่ที่กำหนดใน 3 จังหวัดใกล้เคียงได้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง หาดไร่เลย์) และ พังงา โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม

อย่างไรก็ตาม คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 64 อาจลดลงต่ำกว่าเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 2.1 แสนคน จาก 6.7 ล้านคนในปี 63 ผลกระทบจากการระบาดที่รุนแรงและนานเกินคาดในไทย ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการมาเยือนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และกระทบกับแผนการเปิดสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ นับตั้งแต่โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และพื้นที่นำร่องอื่นๆ

ขณะที่เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค.64 ตลาดนักท่องเที่ยวหลักจากสหรัฐฯ ได้ประกาศยกระดับคำเตือนเดินทางมาไทยเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสุดระดับ 4 เกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 (Do not travel) โดยก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรปได้ถอดไทยออกจากรายชื่อประเทศที่ปลอดภัยจากการระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ การฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวสำคัญมีแนวโน้มล่าช้าออกไป โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังประสบกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราการฉีดวัคซีนยังต่ำ และมีความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน

ด้านเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจของประเทศแกนหลักมีสัญญาณชะลอตัวจากปัจจัยเสี่ยงหลายด้านโดยเฉพาะไวรัสกลายพันธุ์ การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจช้าลง แต่ยังฟื้นตัวไปสู่เป้าหมายระยะยาวของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือนก.ค.64 ยอดค้าปลีกลดลง 1.1% MoM มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ส่วนในเดือน ส.ค.64 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค.63 ขณะที่ดัชนีภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กเดือน ส.ค.64 ลดลงสู่ระดับ 18.3 ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาด

แรงส่งจากการเปิดเศรษฐกิจแผ่วลงแต่การฟื้นตัวยังอยู่บนเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายระยะยาวของเฟด โดยการเพิ่มขื้นของดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ค.64 ทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ส่วนตลาดแรงงานยังปรับตัวดีขึ้น จำนวนผู้ยื่นขอรับสิทธิสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ส.ค.64 ลดลงสู่ระดับ 3.48 แสนราย ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค.63

ทั้งนี้ กรรมการเฟดส่วนใหญ่ได้ระบุในรายงานการประชุมเมื่อเดือน ก.ค.64 ว่าเฟดควรจะเริ่มปรับลดวงเงินตามมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) ในปีนี้ เมื่อเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวเป็นวงกว้างได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่เกิดจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันแตะระดับ 151,000 รายและตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งเกิน 1 พันรายต่อวัน แรงกดดันดังกล่าวอาจทำให้เฟดยังไม่ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด (Hawkish) ในการประชุมธนาคารกลางที่เมืองแจ็กสันโฮลระหว่างวันที่ 26-28 ส.ค.นี้ หากเทียบกับท่าทีในการประชุมเมื่อเดือนที่แล้วดังที่ปรากฏตามรายงานการประชุมข้างต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ