นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ประเทศไทยได้เผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาเป็นเวลานาน และมีสถิติตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20,000 คน/วัน ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศจากการล็อกดาวน์ รวมถึงผลจากการระลอกที่ 3 และระลอกที่ 4 จากเดือน ม.ค.-ส.ค. 64 จะมีมูลค่าประมาณ 8 แสน ถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหากประเทศไทยต้องมีการขยายการล็อกดาวน์ต่อไป อาจส่งผลกระทบเกิน 1 ล้านล้านบาทสำหรับปีนี้ ซึ่งจะทำให้ GDP ปี 64 มีโอกาสติดลบ -1.5 ถึง 0%
ทั้งนี้ แม้กระทรวงแรงงานจะมีมาตรการเยียวยาดูแลประชาชน ผู้ประกันตน และสถานประกอบการอย่างต่อเนื่องแล้ว หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ปัจจุบันถึงการดูแลทั้งแรงงานไทย และแรงงานต่างชาติ ในกลุ่มคลัสเตอร์ผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ผู้ประกอบการโรงงาน ต้องยอมรับว่าเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ทั้งภาคการส่งออก ภาคการผลิต การแปรรูปสินค้าวัตถุดิบในประเทศ ซึ่งยังได้รับการจัดการที่ล่าช้า
โดยหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอเสนอมาตรการด้านแรงงานในสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันเป็นการเร่งด่วน 6 มาตรการ ดังนี้
1. มาตรการเร่งรัดการจัดสรรวัคซีนให้กับลูกจ้างผู้ประกันตนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะพื้นที่สีแดง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปในจังหวัดใกล้เคียงและควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ให้มีจำนวนสูงมากไปกว่าสถานการณ์ปัจจุบัน
"ปัญหาเรื่องวัคซีนเป็นประเด็นใหญ่ เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มแรงงานได้รับการจัดสรรวัคซีนแค่ 2.5 ล้านโดสเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อแรงงานที่มีอยู่ในประเทศไทย ทั้งแรงงานในระบบ และนอกระบบ คนไทย และคนต่างชาติ แค่แรงงานในมาตรา 33 ก็มีถึง 11 ล้านคนแล้ว จึงมีความกังวลว่าภาคการผลิตทั้งในประเทศ และการส่งออกจะได้รับผลกระทบหากแรงงานติดเชื้อโควิด-19 จนส่งผลให้การทำงานหยุดชะงัก ดังนั้นขอให้ภาครัฐ และกระทรวงสาธารณสุข จัดสรรวัคซีนในจำนวนที่เพียงพอต่อจำนวนแรงงาน เพื่อลดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วที่มักเกิดในโรงงานต่างๆ รวมทั้งมีความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และเป้าหมายการเปิดประเทศใน 120 วันที่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ทั้งนี้ การท่องเที่ยวจะกลับมาให้บริการได้นั้น แรงงานภาคบริการในหลายๆ จังหวัดนอกเหนือจากจังหวัดภูเก็ต มีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนเช่นกัน" นายพจน์ กล่าว
2. สนับสนุนโครงการ Factory Sandbox อย่างต่อเนื่อง โดยต้องเร่งขับเคลื่อนจับคู่ระหว่างสถานประกอบกิจการ โรงพยาบาล และภาครัฐในพื้นที่ ภายใต้แนวคิด "ตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล" ซึ่งมีการนำร่องแล้วในจังหวัดสมุทรสาคร
3. เร่งรัดการจัดหาเตียงสำหรับผู้ประกันตนและในกลุ่มแรงงานที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะเตียงสีเหลือง และเตียงสีแดง เพื่อรองรับผู้ป่วยอาการหนัก
4. จัดสรรวัคซีนให้เข้าถึงกลุ่มแรงงานทุกภาคส่วน ทั้งที่ไม่ใช่ผู้ประกันตนมาตรา 33 เช่น แรงงานต่างชาติที่อยู่นอกระบบ หรือเข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมายมีจำนวนกว่า 1 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน รวมทั้งแรงงานกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นสุดลง และยังไม่ได้ต่ออายุ
5. ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้ผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ จำนวน 1.3 ล้านคน ให้สามารถทำงานต่อในราชอาณาจักรไทยได้นั้น จึงขอให้เร่งดำเนินการจัดสรรวัคซีน และจับคู่งานกับนายจ้าง (Matching) เพื่อให้เข้าสู่ระบบโดยเร็ว
6. จัดตั้ง Team Thailand เพื่อศึกษาแนวทางการนำเข้า และบริหารจัดการแรงงานต่างชาติใหม่ในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นจำนวน 500,000 คน และศึกษาแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างชาติ MOU แบบบูรณาการตามมาตรการของสาธารณสุข
ด้านนายวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล รองประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวถึงความร่วมมือในการผลักดันมาตรการแรงงานกับสถานการณ์การโควิด-19 ที่หอการค้าไทยแ ละสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงแรงงาน ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ ดังนี้
1.มาตรการฉีดวัคซีนให้ผู้ประกันตน โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กำหนดแนวทางดำเนินการเพื่อเร่งรัดให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงและได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน ซึ่งสามารถสรุปผลการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.-16 ส.ค. 64 ใน 10 จังหวัด คือกรุงเทพมหานคร, ชลบุรี, ระยอง, ฉะเชิงเทรา, สมุทรปราการ, ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรสาคร, นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา มีผู้ได้รับวัคซีนแล้วจำนวน 1,321,286 แบ่งเป็นคนไทย 1,197,463 คน และคนต่างชาติ 123,823 คน แบ่งเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่หนึ่งจำนวน 1,297,362 คน และได้รับวัคซีนครบสองเข็มจำนวน 23,924 คน โดยได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตน ดังนี้
1.1 ระยะที่ 1 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.-13 ส.ค. 64 โดยฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 แล้วจำนวน 918,753 คน แบ่งเป็นคนไทย 848,514 คน และคนต่างชาติ 70,239 คน
1.2 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ในพื้นที่จังหวัดเขตเศรษฐกิจ และจังหวัดกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ จังหวัดชลบุรี, ระยอง, ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ โดยเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค.-13 ส.ค. 64 และจังหวัดนครปฐม, อยุธยา, นนทบุรี, ปทุมธานี และสมุทรสาคร เริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. 64 รวมจำนวน 13 จุดบริการ ซึ่งผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค.-13 ส.ค. 64 ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 แล้วจำนวน 356,266 คน แบ่งเป็นคนไทย 308,252 คน และคนต่างชาติ 48,014 คน
1.3 พื้นที่ 9 จังหวัด รวมกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.-13 ส.ค. 64 ได้ทำการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 แล้วจำนวน 1,275,019 คน แบ่งเป็นคนไทย 1,156,766 คน และคนต่างชาติ 118,253 คน
1.4 ฉีดวัคซีนให้กับคนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 80,000 คน โดยเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. 64 เป็นต้นไป ซึ่งผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค.-13 ส.ค. 64 สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานในแคมป์จำนวน 29,788 จาก 266 แคมป์
1.5 จัดสรรวัคซีนให้แก่ BOI เพื่อฉีดให้กับกลุ่มแรงงานต่างชาติ (BOI) จำนวน 50,000 โดส (2 เข็ม) ซึ่งผลการดำเนินงานคือได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวน 4 จังหวัด ได้แก่กรุงเทพมหานคร, ระยอง, ชลบุรี และสมุทรปราการ โดยได้รับการฉีดไปแล้วจำนวน 9,034 โดส
2. มาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุก
2.1 ครั้งที่ 1 ตรวจคัดกรองเชิงรุกโควิด-19 ในสถานประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดโควิดระลอกที่ 2 (ม.ค. - มี.ค. 64) สำหรับจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ในสถานประกอบการที่มีความสุ่มเสี่ยงในการรับเชื้อ หรือกระจายเชื้อโรคโควิด-19 โดยใช้วิธีการสุ่มตรวจด้วย RT- PCR และ rapid test (การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในน้ำลาย) โดยผลการดำเนินงานในช่วงการแพร่ระบาดโควิดระลอกที่ 1 ม.ค. - มี.ค. 64 มีผู้ประกันตนได้รับการตรวจคัดกรองเชิงรุกตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. - 31 มี.ค. 64 จำนวน 123,816 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 9,296 คน และไม่ติดเชื้อ 114,520 คน
2.2 ครั้งที่ 2 ขยายพื้นที่จังหวัดการตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกในสถานประกอบการ และจัดตั้งศูนย์ให้บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 ให้แก่ผู้ประกันตนนอกสถานพยาบาล สำหรับการแพร่ระบาดโควิดระลอกที่ 3 ตั้งแต่เม.ย 64 เป็นต้นไป ภายใต้โครงการ "แรงงาน?เราสู้ด้วยกัน" ได้ดำเนินการตรวจคัดกรองโควิด-19 ใน 13 จังหวัด พร้อมทั้งจัดโรงพยาบาลในเครือประกันสังคมเพื่อดูแลผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, นนทบุรี, ชลบุรี, เชียงใหม่, สมุทรสาคร, ภูเก็ต, ระยอง, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, สงขลา และฉะเชิงเทรา เพื่อแยกกลุ่มคนติดเชื้อโควิด-19 ออกจากผู้อื่น ซึ่งมีผู้ประกันตนเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 จำนวน 409,972 คน และอยู่ระหว่างรอผล 1,732 คน โดยพบว่าติดเชื้อ 14,417 คน และไม่ติดเชื้อ 393,823 คน
3. มาตรการเยียวยาผู้ประกันตน โดยให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,500 บาท/คน ผู้ประกันตนมาตรา 39 และผู้ประกันตนมาตรา 40 ในพื้นที่ 29 จังหวัดตามประกาศข้างต้น ให้ได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท/คน ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยมีเป้าหมายการเยียวยาในพื้นที่ 10 จังหวัดชุดที่ 1 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา และสงขลา ส่วนพื้นที่ 3 จังหวัดชุดที่ 2 ได้แก่ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และอยุธยา ส่วนในพื้นที่ 16 จังหวัดชุดที่ 3 ได้แก่กาญจนบุรี, ลพบุรี, เพชรบูรณ์, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, เพชรบุรี, ตาก, อ่างทอง, นครนายก, สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี
4. มาตรการบริหารจัดการช่วยเหลือสนับสนุนแรงงานต่างชาติ
4.1 มาตรการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ของนายจ้างสถานประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
- การผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติรวมถึงผู้ติดตามที่เป็นบุตรอายุไม่เกิน 18 ปี กว่า 500,000 คน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในช่วงปลายปี 63 อยู่และทำงานได้จนถึงวันที่ 13 ก.พ. 66
- ผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ กว่า 1.3 ล้านคน ที่ประสงค์จะทำงานต่อไป โดยสามารถอยู่และทำงานได้จนถึงวันที่ 13 ก.พ. 66
- ผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ กลุ่ม MOU ครบ 4 ปี (ช่วง 1 พ.ย. 63?31 ธ.ค. 64) กว่า 1.3 แสนคน ที่ประสงค์จะทำงานต่อไป โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ และให้อยู่และทำงานได้อีก 2 ปี นับจากการอนุญาตเดิมสิ้นสุด
- ผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นลงเพราะไม่สามารถหานายจ้างได้ทันกำหนดเวลา (ตั้งแต่ 1 ม.ค. ถึง 3 ส.ค. 64) ให้สามารถอยู่และทำงานได้จนถึงวันที่ 13 ก.พ. 66
- ปรับเปลี่ยนระยะเวลาการหานายจ้างรายใหม่ของแรงงานต่างชาติจาก 30 วัน เป็น 60 วัน
4.2 อยู่ระหว่างการหารือกำหนดแนวทางที่เหมาะสมเพื่อนำคนต่างชาติ (กลุ่ม Unskilled Labor) เข้ามาทำงานตาม MOU หลังจากที่ได้มีการชะลอการนำเข้าแรงงานเข้ามาทำงานในประเทศ เป็นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นการทำงานที่ทุกหน่วยงานต้องบูรณาการร่วมกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ
4.3 การนำเข้าแรงงานฝีมือ (กลุ่ม Skilled Labor) ในปัจจุบันได้มีการอนุญาตให้ทำงาน โดยที่นายจ้าง สถานประกอบการ และคนต่างชาตินั้น ๆ จะต้องปฏิบัติตนตามแนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ด้านนายผณิศวร ชำนาญเวช รองประธานคณะกรรมการแรงงาน และพัฒนาฝีมือแรงงาน และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้มีการดำเนินโครงการนำร่อง Factory Sandbox ที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นแห่งแรก ซึ่งอยู่ในพื้นที่สีแดง และมีโรงงานตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก
โดยขณะนี้ได้มีการลงนามความร่วมมือกับทั้ง 15 บริษัทในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อดำเนินโครงการภายใต้แนวคิด "ตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล" คือจะทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในโรงงานที่มีพนักงานจำนวน 500 คนขึ้นไป โดยหากพบเชื้อจะทำการรักษาแบ่งเป็น 3 ระดับตามอาการ คือสีเขียว สีเหลือง และสีแดง นอกจากนี้จะมีการป้องกัน และควบคุมโรคโดยการทำ Bubble and Seal ถ้าไม่พบเชื้อแล้วจะจัดกลุ่มตามความเสี่ยง และประเมินความเสี่ยงของพนักงานทุกวัน
รวมทั้งจะมีการสุ่มตรวจด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kid (ATK) ทุก 7 วัน สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงจะให้ทำการแยกกักตัว และจัดให้มี Factory Quarantine โดยจะประเมินความเสี่ยงของพนักงานทุกวันเช่นกัน และจัดกลุ่มให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงทำงานด้วยกัน (Bubble) ส่วนการดูแลสถานประกอบการ จะต้องฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคเรื้อรัง สตรีตั้งครรภ์ และอื่นๆ เพื่อที่โรงงานนั้นๆ จะได้ใบรับรอง "โรงงานสีฟ้า"
"หลังจากนี้ หากโครงการประสบความสำเร็จ จะมีการนำโมเดลนี้ไปใช้ในจังหวัดที่มีโรงงานตั้งอยู่จำนวนมากต่อไป อย่างไรก็ตามอยากให้ทางกระทรวงแรงงานจัดทำแบบแผนเผยแพร่องค์ความรู้ เพื่อให้ทุกจังหวัดสามารถปฎิบัติไปในทิศทางเดียวกันได้" นายผณิศวร กล่าว