นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของไทย เดือนกรกฎาคม 2564 มีมูลค่า 90,101 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 41.70% ขณะที่ภาพรวมการส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดน 7 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กรกฎาคม) มีมูลค่ารวม 591,051 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.88% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยการส่งออกผ่านการค้าชายแดน 4 ประเทศ (มาเลเซีย เมียนมา ลาว กัมพูชา) มีมูลค่ารวม 40,416 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.55% ขณะที่การส่งออกผ่านการค้าผ่านแดนใน 3 ประเทศ (จีน เวียดนาม สิงคโปร์) มีมูลค่ารวม 49,685 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83.84%โดยมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 17.95% เมียนมา เพิ่มขึ้น 10.65% ลาว เพิ่มขึ้น 8.08% กัมพูชา เพิ่มขึ้น 5.12% จีน เพิ่มขึ้น 126.64% เวียดนาม เพิ่มขึ้น 1.63% และสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 59.85%
"การส่งออกผ่านการค้าชายแดน และการค้าผ่านแดนเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นบวกทุกตลาดทั้ง 7 ประเทศ โดยประเทศที่เป็นบวกสูงสุด คือจีน +126.44% สินค้าส่งออกผ่านแดนไปจีนที่บวกมากที่สุด คือผลไม้สดและผลไม้แห้ง +348% มูลค่ารวม 15,000 ล้านบาท โดยเฉพาะทุเรียนมีมูลค่า 10,600 ล้านบาท มังคุด 4,700 ล้านบาท และลำไย 370 ล้านบาท" รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์กล่าว
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดน ขยายตัวถึง 41.70% มาจาก 1.การเร่งเปิดจุดผ่านแดนที่ปิดไปจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิดในก่อนหน้านี้ โดยล่าสุดสามารถเปิดด่านได้แล้วถึง 44 ด่าน จากทั้งหมด 97 ด่าน 2. การจับมือกับภาคเอกชนแก้ปัญหาในเชิงรุก ทั้งด่านชายแดนและด่านการค้าผ่านแดน เช่น การแก้ปัญหาการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน 3.กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายช่วยต่อลมหายใจให้กับ SMEs ภาคส่งออกในโครงการ "จับคู่กู้เงิน" ซึ่งร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ในการอนุมัติเงินกู้เงื่อนไขพิเศษให้ SMEs กลุ่มส่งออกให้มีสภาพคล่องในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น 4.การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และความต้องการสินค้าบางประเภทเพิ่มขึ้นเช่น สินค้า Work from Home 5.เงินบาทเริ่มอ่อนค่า โดยเฉลี่ย 10% ช่วยให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดเพื่อนบ้านหรือตลาดจีนได้ดีขึ้น
นายจุรินร์ กล่าวว่า ยังมีปัจจัยลบที่กดดันการค้าชายแดน เช่นสถานการณ์โควิด ซึ่งมาเลเซียเข้มงวดการนำเข้าสินค้าชายแดนผ่านไทย เพราะต้องควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำยางและราคาน้ำยางในประเทศ ตลอดจนระบบการขนส่งโลจิสติกส์ทั้งการขนส่งข้ามจังหวัดและระบบการขนส่งข้ามประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้การค้าชายแดนไม่คล่องตัวเช่นในภาวะปกติ
อย่างไรก็ดี สำหรับด่านที่จะเร่งรัดเปิดต่อไปนั้น ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เจรจากับเอกชนและจังหวัด ขณะนี้คืบหน้าใน 5 จังหวัด คือ เชียงราย เลย หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร ซึ่งได้มีการประชุม 3 ฝ่าย และมีข้อสรุปว่าจะทำแผนในการเปิดด่านกับฝั่งลาวใน 5 จังหวัด ส่วนด่านปากแซง นาตาล ที่อุบลราชธานี มีความคืบหน้าการเจรจาอยู่ในขั้นตอนรายละเอียด คาดว่าน่าจะเป็นด่านแรก ๆ ที่จะสามารถเปิดด่านได้ ส่วนที่นราธิวาส ด่านตากใบ และบูเก๊ะตาจะเร่งรัดต่อไป
"เป้าหมายปี 64 ตัวเลขการค้าชายแดนและผ่านแดนนั้น ได้ตั้งเป้าว่าจะขยายตัว 3-6% แต่ตอนนี้เกินเป้าแล้ว เพราะตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2564 ตัวเลขเป็นบวกแล้วถึง 37.88%" นายจุรินทร์กล่าว