นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ ครั้งที่ 5/2564 เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ว่า จากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดให้บริการโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) แบบเสมือนจริง (Soft Opening) ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 โดยไม่คิดค่าโดยสาร ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณวันละ 3,073 คน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 และนโยบายของรัฐบาลที่ให้ประชาชนงดการเดินทางหากไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาความตรงต่อเวลาและความน่าเชื่อถือในการให้บริการ พบว่าอยู่ที่ร้อยละ 96.84 และ 99.35 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับการให้บริการเป็นที่น่าพอใจ
ทั้งนี้ ในส่วนของการเตรียมความพร้อมด้านการเดินรถและการเชื่อมต่อการให้บริการระบบขนส่ง นั้นได้มีการปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทางเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และขสมก. ได้ปรับปรุงเส้นทางรถโดยสารประจำทาง เพื่อให้มีรถโดยสารประจำทาง หมวด 1 กรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง และรถโดยสารประจำทางหมวด 4 รองรับการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงทุกสถานี ซึ่ง รวค. ได้มีข้อสั่งการให้วิเคราะห์ระบบการเชื่อมต่อการให้บริการระบบขนส่งให้ครอบคลุม และไม่กระทบต่อการสัญจรของประชาชน
ในด้านสถานี รฟท. ได้จ้างทำความสะอาดและกำจัดขยะบริเวณสถานีกลางบางซื่อ และบริเวณรถไฟฟ้าสายสีแดง พร้อมจ้างบริการรักษาความปลอดภัยและจราจรบริเวณสถานีกลางบางซื่อและบริเวณรถไฟฟ้าสายสีแดงจำนวน 12 สถานีเรียบร้อยแล้ว ส่วนการจัดประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์ได้จัดทำประกาศเชิญชวนแล้วเสร็จ ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำรายงานเพื่อขออนุมัติออกประกาศเชิญชวน เสนอคณะอนุกรรมการกำกับการบริหารทรัพย์สินฯ และคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. พิจารณาอนุมัติออกประกาศเชิญชวนต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้รายงานผลการสำรวจการจัดทำป้ายตามมาตรฐานป้ายสัญลักษณ์และการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกตามมาตรฐานอารยสถาปัตย์ ณ สถานีกลางบางซื่อแล้ว
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้รับทราบกรอบการพัฒนาสถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารและสินค้าในระยะยาวสำหรับสถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารที่สถานีรังสิต สถานีตลิ่งชัน และจุดจอดรถอโศก พร้อมทั้งสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่สถานีเชียงรากน้อย สถานีวัดสุวรรณ และ ICD ลาดกระบัง โดยมอบหมายให้ รฟท. ไปศึกษาในรายละเอียดในการพัฒนาต่อไป
สำหรับการดำเนินการโครงการระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการเชื่อมต่อการเดินทางสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง(สถานีรังสิต) นั้น ตามที่คณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจ.ปทุมธานี (อจร. จังหวัดปทุมธานี) ได้เห็นชอบแผนดำเนินการ ตามผลการศึกษาของ สนข. และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ซึ่งคาดว่าการให้บริการในเส้นทางสายสถานีรถไฟฟ้ารังสิต - ธัญบุรีคลอง 7 จะสามารถเร่งรัดดำเนินการให้สามารถให้บริการได้ทันกับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงอย่างเป็นทางการได้
ด้านการกำหนดราคาค่าโดยสารและตั๋วร่วมนั้นได้มอบหมายให้ รฟท. พิจารณาค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นต้นทุนการดำเนินงานและพิจารณาผลประกอบการจากการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนในด้านความพร้อมเข้าสู่ระบบตั๋วร่วมภายใต้มาตรฐานEMV รองรับการใช้งานในรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. และเรือโดยสาร MINE Smart Ferry นั้น จะสามารถเปิดใช้ระบบการชำระค่าโดยสารตามมาตรฐาน EMV ของรถไฟชานเมืองสายสีแดงได้ภายในปลายปี 2564 รวมทั้ง เปิดใช้งานกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงได้ภายในต้นปี 2565 ในด้านบัตรโดยสารในการเดินทางร่วม ได้มอบหมายให้ บมจ. ธนาคารกรุงไทยประสานการหารือร่วมระหว่าง รฟท. ขสมก. กรมเจ้าท่า(จท. ) ผู้ให้บริการเรือโดยสาร รวมทั้ง รฟม. และ BEM เพื่อให้ได้ข้อสรุปในรายละเอียดโปรโมชั่นส่งเสริมการเดินทางร่วมระหว่างกัน รวมทั้ง แนวทางการดำเนินงานในด้านเทคนิคของบัตรโดยสารและรูปแบบของข้อตกลงทางธุรกิจร่วมกัน
ความคืบหน้าการดำเนินงานจัดทำบัตรโดยสารในการเดินทางร่วมสายสีแดงกับ ขสมก. เพื่อชำระค่าโดยสารแบบเหมาจ่ายรายเดือนในบัตรเดียวกัน กำหนดให้สามารถเดินทางได้ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว ในระยะเวลา 1 เดือน นับจากวันแรกที่ใช้งาน โดยสามารถซื้อบัตรโดยสารในการเดินทางร่วมได้ที่เขตการเดินรถตามที่ขสมก. กำหนด และห้องจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง
และยังสามารถเติมเงินเข้าบัตรได้หลายช่องทาง เช่น ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย แอปพลิเคชัน Krungthai NEXT ตู้เติมเงิน รวมทั้ง การเติมเงินผ่าน QR Code การเติมเงินที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ซึ่งการชำระเงินค่าโดยสารในการเดินทางนั้น ผู้โดยสารจะใช้บัตรดังกล่าว ชำระผ่านเครื่อง EDC บนรถเมล์ ขสมก. และแตะเข้า Gate ของสถานีสายสีแดง ซึ่งจะทำให้การใช้บัตรโดยสารร่วมดังกล่าวเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็วในการเดินทางเชื่อมต่อ
ในการกำหนดอัตราค่าโดยสารสำหรับการให้บริการต้องคำนึงถึงค่าครองชีพของประชาชนในสภาวการณ์ปัจจุบัน และการชดเชยรายได้ของการเดินรถจากการบริหารเชิงพานิชย์ โดยจะต้องยึดแนวทางการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าที่เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวของประชาชน ลดการใช้พลังงาน และแก้ปัญหาการเกิดมลพิษเช่น ฝุ่น PM2.5 และพิจารณาการกำหนดค่าแรกเข้าให้มีความเหมาะสม เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดอัตราค่าโดยสารต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้รับทราบแนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และแผนการพัฒนาแนวพื้นที่ระหว่างสถานีบางซื่อถึงสถานีกรุงเทพ โดย รฟท. จะสำรวจรายละเอียด และตรวจสอบพื้นที่ รวมถึงอาคารที่จะต้องทำการอนุรักษ์และจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ที่จะต้องสอดคล้องกับแผนการลดจำนวนรถไฟที่เข้าสู่สถานีกรุงเทพ แผนงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินและแผนงานโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างสอดรับกันและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้พิจารณาถึงการอนุรักษ์ความเป็นรถไฟไทยจากสถาปัตยกรรมเดิม และรายได้การพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อให้สามารถนำมาบำรุงรักษาแหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางรถไฟเดิมโดยการพัฒนาให้เป็นพื้นที่สวนสาธารณะและร้านค้าชุมชนโดยเน้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาพื้นที่ด้วย