นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้ออก "กฎกระทรวง กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ.2564" และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 ซึ่งภายหลังจากที่กระทรวงคมนาคมได้เปิดให้ผู้ขับขี่รถใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน ถึงทางต่างระดับอ่างทอง เป็นเส้นทางแรก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ตามนโยบายการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ จากความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสั่งการให้กรมทางหลวงกำหนดเส้นทางเพิ่มเติม โดยให้ครอบคลุมเส้นทางในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เพื่อประกาศใช้ในระยะที่ 2 โดยได้ข้อสรุป 6 เส้นทาง มีผลเริ่มใช้ได้ในวันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้เน้นย้ำให้กรมทางหลวงปรับปรุงเพิ่มมาตรฐานทางกายภาพให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ได้แก่ เสริมการก่อสร้างอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างทาง (Concrete Barrier) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงเนื่องจากการเสียหลักข้ามเกาะกลาง ปรับปรุงจุดกลับรถระดับราบ เพื่อลดการตัดกันของกระแสจราจร ติดตั้งป้ายจราจรและป้ายเปลี่ยนข้อความได้เพื่อสื่อสารการใช้ความเร็วที่เหมาะสมในช่วงถนนและช่องจราจร รวมทั้งติดตั้งแถบเตือน Rumble Strips บอกจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดการเข้าเขตควบคุมความเร็วด้วย
ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า สำหรับเส้นทางนำร่อง ระยะที่ 2 ทั้ง 6 เส้นทาง ที่จะเริ่มใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ในวันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ประกอบด้วย
1.ทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ตอนบ่อทอง-มอจะบก ระหว่าง กม.74+500 ถึง กม. 88+000 แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2 ทั้งขาเข้าและขาออก 6 ช่องจราจร ระยะทาง 13.500 กม.
2.ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ตอนหางน้ำหนองแขม-บ้านหว้า-วังไผ่ ระหว่าง กม.306+640 ถึง 330+600 แขวงทางหลวงนครสวรรค์ที่ 1 ทั้งขาเข้าและขาออก 8 ช่องจราจร ระยะทาง 23.960 กม.
3.ทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ตอนอ่างทอง-ไชโย-สิงห์ใต้-สิงห์เหนือ-โพนางดำออก ระหว่าง กม.50+000 ถึง 111+473 แขวงทางหลวงอ่างทอง และแขวงทางหลวงสิงห์บุรี ทั้งขาเข้าและขาออก 6 และ 8 ช่องจราจร ระยะทาง 61.473 กม.
4.ทางหลวงหมายเลข 1 ตอนสนามกีฬาธูปเตมีย์-ต่างระดับคลองหลวง-ประตูน้ำพระอินทร์ ระหว่าง กม.35+000 ถึง 45+000 แขวงทางหลวงปทุมธานี ทั้งขาเข้าและขาออก 6 ช่องจราจร ระยะทาง 10.000 กม.
5.ทางหลวงหมายเลข 34 (ถนนบางนา ? ตราด) ตอนบางนา-ทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กม.1+500 ถึง 15+000 แขวงทางหลวงสมุทรปราการ ทั้งขาเข้าและขาออก 8 ช่องจราจร ระยะทาง 13.500 กม.
และ 6. ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนสุวินทวงศ์) ตอนคลองหลวงแพ่ง-ฉะเชิงเทรา ระหว่าง กม. 53+300-58+320 และ กม. 62+220 ถึง กม. 63+000 แขวงทางหลวงฉะเชิงเทรา ทั้งขาเข้าและขาออก ระยะทาง 5.800 กม. โดยทั้ง 6 เส้นทางกำหนดให้ใช้อัตราเร็วสูงสุดไม่เกิน 120 กม./ชม. และไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. ในช่องทางขวาสุด ยกเว้นกรณีเหตุฉุกเฉิน เช่น การจราจรติดขัด หรือรถเสีย
ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยได้ปรับปรุงทางกายภาพของถนนทั้ง 6 เส้นทางให้มีความพร้อมรองรับการใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. เพื่อความปลอดภัย เช่น ปิดจุดกลับรถพื้นราบ ให้ใช้จุดกลับรถใต้สะพานหรือทางยกระดับ ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ติดตั้งกล้องวงจรปิดและอุปกรณ์ตรวจจับความเร็ว ป้ายเตือน ป้ายจราจรต่างๆ รวมทั้งประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจังหวัด ตำรวจในพื้นที่ และตำรวจทางหลวง เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน
ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้ใช้ทางทราบข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ขับขี่ได้ใช้อัตราความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ที่สำคัญคือมีความปลอดภัยสูง โดยผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถติดตามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Website กรมทางหลวง (www.doh.go.th) แฟนเพจกรมทางหลวง และ Call Center 1586