นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ค.64 อยู่ที่ระดับ 91.41 ขยายตัว 5.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในรอบแรก เป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งให้ MPI ยังขยายตัว แต่อยู่ในอัตราที่ชะลอลง
ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการยังไม่ส่งผลต่อการจ้างงานและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม สะท้อนได้จากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมเดือนก.ค. 64 ยังคงขยายตัว 3.41%
ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนในหลายประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการผลิตและการบริโภค ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) เดือนก.ค. ขยายตัวสูงต่อเนื่องในระดับ 2 หลัก
ด้านการผลิตรถยนต์ยังคงขยายตัวสูงจากฐานต่ำปีที่แล้วที่มีการล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก แต่จะต้องติดตามปัญหาการขาดแคลนชิป และกำลังซื้อในประเทศที่ส่งผลให้ยอดขายในประเทศเดือน ก.ค. 64 หดตัว
ขณะที่ในช่วง 7 เดือนแรกปี 64 (ม.ค.-ก.ค.) ดัชนี MPI ขยายตัวเฉลี่ย 8.91%
ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต (CAP U) เดือนก.ค. 64 อยู่ที่ 58.12% และช่วง 7 เดือนแรกอยู่ที่ 64.09%
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ MPI ขยายตัวเป็นบวก ได้แก่
- ยานยนต์ เพิ่มขึ้น 31.49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกเป็นหลัก ด้วยผลของฐานต่ำ และความต้องการของลูกค้าต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวจากการควบคุมการระบาดได้ดี และมีการฉีดวัคซีนทั่วประเทศในระดับสูง
- ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 19.02% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามความต้องการที่เติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ และคาดว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้นในระยะยาวเพราะจะมีการใช้ชิ้นส่วนชิปที่มากขึ้น
"สำหรับปัญหาชิปขาดแคลนคาดว่าส่งผลกระทบเล็กน้อย เนื่องจากโรงงานหรือสถานประกอบการแต่ละแห่งได้มีการวางแผนล่วงหน้าบ้างแล้ว ในส่วนที่จะมีปัญหาในขณะนี้ คือเรื่องการขนส่ง ตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือที่มีราคาสูงขึ้น จึงยังต้องเร่งแก้ปัญหาในส่วนนี้ต่อไป" นายทองชัย กล่าว
- ผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่มขึ้น 18.55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากยางแท่งและยางแผ่นเป็นหลัก จากสถานการณ์โควิด-19 ของกลุ่มประเทศคู่ค้าหลัก เช่นประเทศจีน อเมริกา และยุโรป ที่เริ่มคลี่คลาย และกลับมาสั่งซื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงปีนี้ฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นยางสมบูรณ์จึงสามารถผลิตน้ำยางได้มาก รวมทั้งมีผู้ผลิตบางรายได้หยุดเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักรในปีก่อน
ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ MPI ขยายตัวเป็นลบหดตัวได้แก่
- การกลั่นปิโตรเลียม ลดลง -5.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวด ทั้งการจำกัดการเดินทางระหว่างจังหวัดในบางพื้นที่ จำกัดเวลา การปิดสถานที่ชุมชน และการให้ทำงานที่บ้าน (work from home) ส่งผลให้การใช้น้ำมัน ชื้อเพลิงในการเดินทางลดลง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว
- Hard Disk Drive ลดลง -9.82% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการแพร่ระบาดของโควิต-19 ระลอก 3 ที่รุนแรงและกระจายตัวเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบให้ผู้ผลิตประสบปัญหาพนักงานติดเชื้อจำนวนมาก รวมถึงขาดชิ้นส่วนทำให้ไม่สามารถทำการผลิตได้เต็มที่
- เบียร์ ลดลง -21.86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิต-19 ที่รุนแรง ทำให้รัฐมีมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดมากขึ้น โดยไม่ให้นั่งทานอาหารในร้าน และให้ ให้ทำงานที่บ้าน (work from home) มากที่สุด ซึ่งต่างจากปีก่อนที่เป็นช่วงผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งมีการดำเนินกิจกรรมของผู้คนได้มากกว่า
นายทองชัย กล่าวว่า สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตเดือนส.ค. 64 การส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มของการขยายตัวที่ดี รวมถึงค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยเสริมความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยในขณะนี้ รวมทั้งการคงมาตรการ "ล็อกดาวน์" พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ต่อไปจนถึงวันที่ 31 ส.ค. อาจส่งผลต่อกิจกรมทางเศรษฐกิจและบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ
ในส่วนของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโรงงานหรือสถานประกอบการ อาจจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามในส่วนของโรงงานทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้มีการเห็นชอบให้มีมาตรการควบคุมพื้นที่เฉพาะ (Bubble & Seal) และโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) โดยกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว
ทั้งนี้ สศอ.ยังคงคาดการณ์ดัชนี MPI ทั้งปีจะขยายตัวที่ระดับ 4-5% และจีดีพีภาคอุตสาหกรรมทั้งปีจะขยายตัวที่ระดับ 3-4%
"คาดว่า ดัชนี MPI ในเดือนส.ค. ยังทรงๆ อยู่เนื่องจากยังล็อกดาวน์อยู่ หากมีการคลายล็อกดาวน์ และการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง มองว่าในเดือนก.ย. ดัชนี MPI น่าจะปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งหากโรงงานได้รับวัคซีนมากขึ้นการผลิตน่าจะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ในขณะที่เดือนนี้ยังคงตัวเลขดัชนี MPI และจีดีพีภาคอุตสาหกรรมของทั้งปี ส่วนจะมีการปรับเพิ่มหรือไม่นั้น ต้องรอประเมินสถานการณ์หลังคลายล็อกดาวน์ในอีก 2 เดือนข้างหน้า รวมถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนที่คาดว่าในเดือนธ.ค. น่าจะมีการฉีดวัคซีนเกิน 100 ล้านโดส หรือครอบคลุม 80% ของประชากรแล้ว" นายทองชัย กล่าว
ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคการผลิตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนี MPI เดือนก.ค. 64 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 เนื่องจากการฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่มีความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น ภาคการผลิตของไทยจึงได้รับอานิสงส์สามารถขยายการผลิตเพื่อส่งออกได้มากขึ้น โดยการส่งออกขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรมยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้งนี้ สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการ ปัจจุบันยังไม่ส่งผลต่อการจ้างงานและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม สะท้อนได้จากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2564 ยังคงขยายตัว 3.41% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวของกับปีก่อนซึ่งแสดงให้เห็นจำนวนชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้น