นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกรกฎาคม 2564 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกรกฎาคม 2564 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าในเกือบทุกภูมิภาค จากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ขยายวงกว้าง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงในหลายภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของภาคตะวันออก ยังปรับเพิ่มขึ้นจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
- ภาคตะวันออก
เศรษฐกิจขยายตัวได้เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ยังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกยังปรับเพิ่มขึ้น จากภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในเดือนกรกฎาคม 2564 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอลง -7.9% และ -0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล -26.0% และ -19.5% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว 52.1% และ 118.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 11.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลง -19.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ 9.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลง -43.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ด้วยจำนวนเงินทุน 1.7 พันล้านบาท จากโรงงานทำเครื่องเรือน เครื่องใช้จากไม้ เช่น พื้นไม้แปรรูปในจังหวัดชลบุรี และโรงงานผลิตภาชนะบรรจุจากกระดาษทุกชนิด และการทำพลาสติกเป็นแผ่นและการพิมพ์ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่นพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 105.6 จากระดับ 105.0 ในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.8 จากระดับ 46.0 ในเดือนก่อนหน้า
- ภาคกลาง
เศรษฐกิจขยายตัวได้เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ยังเพิ่มขึ้น ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงในเดือนกรกฎาคม 2564 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.0% แต่ชะลอลง -16.0% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว 10.5% และ 1,388.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.0% และ 18.7% ตามลำดับ แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -21.1% และ -12.4% ตามลำดับ เช่นเดียวกับ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัว 260.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลง -64.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ด้วยจำนวนเงินทุน 674.64 ล้านบาท จากโรงงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลาสติก (บดหรือย่อยพลาสติก) ในจังหวัดสระบุรี เป็นสำคัญ นอกจากนี้ หากพิจารณาในด้านความเชื่อมั่นพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 39.9 และ 77.8 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.1 และ 80.1 ตามลำดับ
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เศรษฐกิจขยายตัวได้เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง ในเดือนกรกฎาคม 2564 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภค สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 8.9% และ 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลง -11.8% และ -6.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 20.6% แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลชะลอตัวลง -6.1% อย่างไรก็ดี เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัว 253.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 67.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ด้วยจำนวนเงินทุน 1.08 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตแอสฟัลต์ติกคอนกรีต ในจังหวัดศรีษะเกษ และโรงงานกลึง เจาะ คว้าน กัด ไส เจียร์ชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องจักร หรือเชื่อมโลหะทั่วไป ในจังหวัดขอนแก่น เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 45.2 และ 69.5 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.1 และ 71.3 ตามลำดับ
- กทม. และปริมณฑล
เศรษฐกิจขยายตัวได้เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงในเดือนกรกฎาคม 2564 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกร ขยายตัวร้อยละ 17.3 และ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลง -0.6% และ -2.0% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ และจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน -78.7% และ -21.3% ตามลำดับ และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -74.2% และ -30.9% ตามลำดับ นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่นพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 39.3 และ 77.8 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 41.7 และ 80.1 ตามลำดับ
- ภาคใต้
เศรษฐกิจชะลอตัวลงทั้งจากการบริโภคอุปโภค และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังผลทางฤดูกาล พบว่ายังมีปัจจัยบวกจากจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนชาวต่างชาติ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในเดือนกรกฎาคม 2564
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ชะลอลง -0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 516.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่รายได้เกษตรกรขยายตัว 36.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลง -3.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ 8.8% และ 20.9% ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลชะลอตัวลง -4.6% และ -13.5% ตามลำดับ นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -12.2% และ -55.4% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในเดือนนี้มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น 78.8% ต่อปี ส่งผลให้มีรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น 471.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 1,063.3% และ 4,096.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 37.4 และ 79.3 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 39.5 และ 82.0 ตามลำดับ
- ภาคเหนือ
เศรษฐกิจชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ยังเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงในเดือนกรกฎาคม 2564 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกร ขยายตัว 10.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลองลง -11.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว 0.5% และ 66.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ และจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน -17.6% และ -2.7% ตามลำดับ และชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล -60.6% และ -2.3% ตามลำดับ ทั้งนี้ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 43.9 และ 57.5 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 45.8 และ 59.0 ตามลำดับ
- ภาคตะวันตก
เศรษฐกิจชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่และรายได้เกษตรกรเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงในเดือนกรกฎาคม 2564 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกร ชะลอลง -4.6% และ -12.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 253.9% และ 3.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ และจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน -95.8% และ -9.7% ตามลำดับ และชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล -79.6% และ -6.9% ตามลำดับ นอกจากนี้ หากพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 39.9 และ 77.8 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 42.1 และ 80.1 ตามลำดับ