นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. กระทรวงการคลัง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมกันจัดตั้ง "โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน"อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นช่องทางให้คำแนะนำ ความรู้ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจร ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 64 เป็นต้นไป
โดยโครงการหมอหนี้ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ และข้อแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้อย่างครบวงจร ทั้งในส่วนของลูกหนี้รายย่อย และลูกหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอี โดยลูกหนี้จะได้รู้วิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ การเตรียมตัวก่อนพบพบเจ้าหนี้ ได้รับคำแนะนำ และมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ จากภาครัฐที่ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งได้สำรวจธุรกิจตัวเองเพื่อปรับแผนธุรกิจได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่จะร่วมโครงการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกหนี้รายย่อย สามารถเรียนรู้แก้ไขปัญหาหนี้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ เพื่อหาข้อมูลแก้ไขปัญหาหนี้ ประเมินสุขภาพทางการเงิน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ช่วยตอบคำถามต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์ และกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการความช่วยเหลือเชิงลึก ให้ลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งจะขอข้อมูลรายละเอียดธุรกิจ การเงิน และภาระหนี้ เมื่อลงทะเบียนสำเร็จก็จะได้รับการติดต่อให้ไปพบหมอหนี้ภายใน 5-7 วัน
"ลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถติดต่อขอคำแนะนำเชิงลึกเพิ่มเติมจากทีมหมอหนี้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs บสย. (บสย. FA Center) สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย" นางธัญญนิตย์
พร้อมระบุว่า จากสถานการณ์โควิด-19 กระทบกับภาคธุรกิจ การแก้ไขปัญหาหนี้ที่ยั่งยืนต้องกลับมาสู่การปรับโครงสร้างหนี้ ดูแลในส่วนของรายได้ ซึ่งคาดว่าการจ้างงานและรายได้จะยังไม่กลับมาในปี 2565 โครงการหมอหนี้ฯ จะช่วยปิดช่องว่าง ความไม่เข้าใจปัญหาหนี้สิน และมาตรการของรัฐ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมาได้
โดยที่ผ่านมา ตั้งแต่ต้นปีได้นำร่องโครงการจนถึงเดือนก.ค. มีลูกหนี้เอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการกว่า 940 ราย โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ การค้า อาหาร การบริการ ขนส่ง โรงแรม และการผลิต โดยส่วนใหญ่เข้าใจปัญหาหนี้และมาตรการช่วยเหลือ และคาดว่าเมื่อเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ จะมีผู้สนใจในกลุ่มที่เข้ามาหาข้อมูลผ่านเว็บไซต์มากกกว่าหลักหมื่นคนต่อเดือน ส่วนกลุ่มธุรกิจที่จะเข้าหารือกับหมอหนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากช่วงนำร่องที่มียอด 200 รายต่อเดือน
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน และการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้แก่ผู้ประกอบการ และประชาชน โดยการสร้างองค์ความรู้และวางแผนทางการเงินให้แก่ลูกหนี้ เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยให้การแก้ปัญหาหนี้สินมีความยั่งยืน เกิดประโยชน์ในระยะยาว อีกทั้งช่วยส่งเสริมให้มาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ท้ายสุดแล้ว จะทำให้ลูกหนี้สามารถก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้
ด้านนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทย ได้ส่งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญร่วมให้คำปรึกษาการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างครบวงจร ในโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ตั้งแต่การประเมินและสำรวจภาระหนี้ การเตรียมตัวเจรจาแก้ไขหนี้ การวางแผนชำระคืนหนี้ รวมถึงแนวทางการปรับตัวในอนาคต เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและรายย่อย โดยจะเริ่มจากลูกค้าของแต่ละธนาคาร ซึ่งนับเป็นหนึ่งในการช่วยเหลือของภาคธนาคาร นอกจากมาตรการทางการเงินต่าง ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของลูกหนี้