(เพิ่มเติม) ธปท.เผย ศก.ไทย ก.ค.ได้รับผลกระทบโควิดทำการใช้จ่ายลดลง-ศก.คู่ค้าชะลอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 31, 2021 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ธปท.เผย ศก.ไทย ก.ค.ได้รับผลกระทบโควิดทำการใช้จ่ายลดลง-ศก.คู่ค้าชะลอตัว

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจในเดือน ก.ค.64 ว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงของโควิด-19 และมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศลดลง โดยภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ ขณะที่เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว และส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยแผ่วลงเล็กน้อย ขณะเดียวกันยังเห็นผลกระทบจากปัญหา supply disruption ชัดเจนขึ้นในภาคการผลิต

สำหรับแนวโน้มในเดือน ส.ค.64 กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังถูกกดดันจากการแพร่ระบาดที่รุนแรง และมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น ต้องติดตามผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากปัญหา supply disruption ทั้งการแพร่ระบาดในโรงงาน และการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงเศรษฐกิจคู่ค้าที่เผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วในเดือน ก.ค.64 ลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง ขณะที่มาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อได้เพียงบางส่วน

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าอยู่ที่ 22.5 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 21.7% โดยมูลค่าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน เป็นผลจาก 1) อุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในบางประเทศที่รุนแรงขึ้น และ 2) การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งกระทบต่อการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงาน ซึ่งกระทบต่อการส่งออกอาหารแปรรูป อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าบางหมวดยังเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเกษตร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และโลหะ

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ลดลงจากเดือนก่อน จากทั้งในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้าง สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่อ่อนแอลง รวมทั้งผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมการระบาดในพื้นที่ก่อสร้างที่เข้มงวดขึ้น

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ ปิโตรเลียม และวัสดุก่อสร้างที่แผ่วลงตามภาวะอุปสงค์ ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งการหยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานยังกดดันการผลิตในหลายหมวด

ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าโดยมูลค่าอยู่ที่ 19.2 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 36.6% โดยมูลค่าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน ซึ่งการนำเข้ายังเพิ่มขึ้นในบางหมวดสินค้า อาทิ เชื้อเพลิง และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ขณะที่บางหมวดมีการนำเข้าลดลง โดยเฉพาะรถยนต์ สอดคล้องกับกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอลง

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากโครงการ Phuket sandbox ที่เริ่มขึ้นในเดือน ก.ค.นี้ ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 18,056 คน ในจำนวนนี้มาจาก Phuket sandbox 14,055 คน และ Samui plus อีก 144 คน อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวยังเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับภาวะปกติ จากผลของมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่รวมเงินโอน การใช้จ่ายภาครัฐทรงตัว โดยรายจ่ายประจำขยายตัวจากทั้งรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัว โดยเฉพาะการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง จากผลของฐานสูงที่มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในปีก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่ทยอยหมดลง และมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาของภาครัฐ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.45% ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อนตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลลดลงตามการส่งออกสินค้าที่แผ่วลงเป็นสำคัญ

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนก.ค. อ่อนค่าลงกว่าสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่ จากการแพร่ระบาดของโควด-19 ภายในประเทศที่ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น ประกอบกับภาครัฐเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในการควบคุมดูแลสถานการณ์โควิดในประเทศ ซึ่งมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้นด้วย

"ภาพรวมเศรษฐกิจในเดือนก.ค. จะเห็นผลกระทบจากการระบาดของโควิดที่รุนแรงมากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้น แต่ภาครัฐก็ยังมีมาตรการออกมาช่วยพยุงเศรษฐกิจได้บางส่วน อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด ซึ่งส่งออกมาถึงการส่งออกของไทย" น.ส.ชญาวดี กล่าว

พร้อมมองว่า แนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนส.ค.นี้ ยังคงถูกกดดันจากการระบาดที่รุนแรงในประเทศ ขณะเดียวกันต้องติดตามปัญหา Supply disruption ตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเองว่าจะกลับมาได้มากน้อยเพียงใด

ส่วนการคลายล็อกดาวน์ในกิจกรรมบางประเภทซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 1 ก.ย. ตลอดจนแนวโน้มการเข้าถึงวัคซีนที่เริ่มมีมากขึ้นนั้น จะส่งผลให้มีการปรับมุมมองของ ธปท.ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในกรณีฐาน ที่ล่าสุดประมาณการว่า GDP ปีนี้จะเติบโตได้ 0.7% หรือไม่นั้น น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า กรณีฐานได้ประเมินสถานการณ์ดังกล่าวไว้แล้วว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3 ดังนั้น มุมมองนี้จะยังไม่ต่างไปจากที่คาดการณ์ไว้เดิม

แต่อย่างไรก็ดี ต้องจับตาปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น การระบาดของโควิดในต่างประเทศ, โอกาสที่โควิดจะกลับมาระบาดรอบใหม่ในประเทศ, ปัญหา Supply disruption, ผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะได้มีการพิจารณากันในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบการประชุมวันที่ 29 ก.ย.นี้ ว่าจำเป็นจะต้องปรับมุมมองต่อ GDP ปีนี้อีกหรือไม่

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า สำหรับเงินบาทในเดือน ส.ค.นี้ มีทิศทางที่อ่อนค่าต่อเนื่องจากเดือน ก.ค. เนื่องจากรัฐบาลยังมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ประกอบกับนักลงทุนมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือน ส.ค.เงินบาทกลับไปแข็งค่าเร็ว เนื่องจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) อนุมัติให้มีการใช้วัคซีนไฟเซอร์ได้อย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้คนมีความเชื่อมั่นต่อทิศทางการระบาดที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันการทำมาตรการ QE อย่างค่อยเป็นค่อยไป ความเชื่อมั่นในตลาดโลกมีสูงขึ้น นักลงทุนหันมาถือครองสกุลเงินที่มีความเสี่ยงมากขึ้น จึงทำให้เห็นว่าเงินบาทในระยะนี้กลับมาแข็งค่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ