ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในเดือนส.ค. 64 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ปรับลดลงจากระดับ 41.4 มาอยู่ที่ 40.0 จากการปรับลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยความเชื่อมั่นที่ลดลงมาจากความเชื่อมั่นของภาคการผลิตเป็นสำคัญ นำโดยกลุ่มผลิตยานยนต์และกลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ความเชื่อมั่นปรับลดลงเกือบทุกด้าน รวมถึงกลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ความเชื่อมั่นด้านการผลิตปรับลดลงมาก ส่วนหนึ่งจากปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ยังไม่คลี่คลาย และการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในโรงงาน ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบต่อการผลิตและต้นทุน
สำหรับความเชื่อมั่นในภาคที่มิใช่การผลิตทรงตัวต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่อง ตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น โดยดัชนีฯ ของธุรกิจก่อสร้างปรับลดลงสู่จุดต่ำสุดใหม่ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และความเชื่อมั่นด้านการลงทุนที่ลดลงมาก แม้ว่ารัฐจะผ่อนคลายให้กลับมาดำเนินการได้ เนื่องจากรัฐยังคงกำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด โดยกำหนดให้มีการทำ Bubble and seal หลังจากเปิดแคมป์คนงาน
ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.8 จาก 47.7 ในเดือนก่อน ตามความเชื่อมั่นที่ลดลงในภาคการผลิตเป็นสำคัญ นำโดยกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงกลุ่มผลิตเคมี ปิโตรเลียม ยาง และพลาสติกที่ดัชนีฯ กลับมาลดลงต่ำกว่า 50 สะท้อนความเชื่อมั่นที่แย่ลงเมื่อเทียบกับปัจจุบัน
ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคที่มิใช่การผลิตทรงตัวต่ำกว่า 50 ต่อเนื่อง โดยความเชื่อมั่นของธุรกิจอสังหาฯ และก่อสร้างอยู่ในระดับต่ำมาก โดยเฉพาะความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อของธุรกิจอสังหาฯ และด้านการจ้างงานของธุรกิจก่อสร้าง ที่ปรับลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เริ่มจัดทำดัชนีฯ
ขณะที่ผลการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) เฉพาะกิจ จากผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทย ระหว่างวันที่ 2-25 ส.ค. 64 ระบุว่า ในเดือนส.ค. 64 ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงเดือนก่อน แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดบางส่วน อาทิ การเปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าสำหรับขายแบบเดลิเวอรี่ การเปิดแคมป์ก่อสร้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และผ่อนคลายการเดินทางข้ามจังหวัดของแรงงาน แต่กำลังซื้อที่อ่อนแอยังคงกดดันการฟื้นตัวในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะภาคที่มิใช่การผลิต
ด้านภาคการผลิตยังคงเผชิญกับการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในโรงงาน และการปิดโรงงานของคู่ค้าเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่กระทบกับระดับการผลิตในภาพรวม ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ผ่อนคลายจากเดือนก่อนเล็กน้อย
ขณะที่ระดับการฟื้นตัวของการจ้างงานค่อนข้างทรงตัว ยกเว้น ภาคท่องเที่ยวที่มีการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นบ้างตามแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวในบางพื้นที่ ส่วนภาคการค้ามีการจ้างแรงงานลดลง สำหรับรายได้เฉลี่ยของแรงงานปรับลดลงเล็กน้อยสอดคล้องกับการใช้นโยบายสลับกันมาทำงาน ลดชั่วโมงทำงาน และให้ใช้วันลาเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะภาคที่มิใช่การผลิตที่ระดับการใช้นโยบายข้างต้นกลับมาใกล้เคียงกับช่วงที่มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศในเดือน เม.ย. 63
ในส่วนสภาพคล่องสำรองของภาคธุรกิจลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะภาคที่มิใช่การผลิต อาทิ ธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร และธุรกิจก่อสร้าง สะท้อนจากสัดส่วนของธุรกิจที่มีสภาพคล่องน้อยกว่า 3 เดือนเพิ่มขึ้น
"ความเชื่อมั่นด้านรายได้ของธุรกิจส่วนใหญ่ปรับลดลง เมื่อเทียบกับช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ครั้งแรกในเดือน เม.ย. 63 โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว ที่ผู้ตอบแบบสำรวจกว่าครึ่งหนึ่งมีความเชื่อมั่นลดลงมาก ตามด้วยภาคอสังหาฯ และภาคการค้า ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านรายได้ของภาคการผลิตดีกว่าภาคที่มิใช่การผลิต จากการส่งออกที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง"
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ยืดเยื้อ ธุรกิจกว่าครึ่งเลือกที่จะปรับตัวโดยการลดต้นทุน, ชะลอการลงทุน, ลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน, หารายได้ช่องทางอื่น และปิดกิจการชั่วคราว หรือปิดบางสาขา