นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจาก รมว.พาณิชย์ ให้เป็นผู้แทนเข้าร่วมอภิปรายเชิงนโยบาย (Policy dialogue) ในการประชุม Belt and Road Summit ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ "การขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยการส่งเสริมการค้าระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ" ผ่านระบบการประชุมทางไกลนั้น ได้ใช้โอกาสนี้เน้นย้ำนโยบายของไทยในการเชื่อมโยงไทยผ่านเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Great Bay Area: GBA) และข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน เนื่องจากไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ของอนุภูมิภาค CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) และอาเซียน การผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ตามเส้นทาง BRI จะนาไปสู่การสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน และดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC อาทิ อุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์สมัยใหม่ และการบินและโลจิสติกส์
ทั้งนี้ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนี้มิได้จำกัดอยู่ที่ไทยเท่านั้น แต่จะขยายตัวครอบคลุมทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเส้นทางรถไฟและโครงข่ายคมนาคมภายใต้ข้อริเริ่ม BRI อาทิ รถไฟความเร็วสูงไทย - ลาว - จีน เสร็จสมบูรณ์ จะช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และประชาชนในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคฟื้นตัวจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนั้น แนวนโยบายที่สนับสนุนการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศของจีน จะทำให้นักลงทุนไทยมีโอกาสเข้าไปลงทุนในจีน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่มากขึ้น
นายสรรเสริญ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้ข้อริเริ่ม BRI ประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น คือ การยกระดับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยเฉพาะการเร่งผลักดันให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งครอบคลุมประชากรกว่า 30% ของประชากรโลก และมีสัดส่วน GDP ถึง 30% ของ GDP โลก มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ซึ่งจะช่วยขยายการค้าและการลงทุน และเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานจากการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าในภูมิภาค รวมทั้งสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ในการส่งออกสินค้า บริการ และการลงทุนในตลาดการค้าขนาดใหญ่
ทั้งนี้ การประชุม Belt and Road Summit เป็นเวทีประจำปี ซึ่งจัดโดยรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สำหรับผู้บริหารภาครัฐ นักธุรกิจและนักลงทุนจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและต่างประเทศ ในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ข้อริเริ่ม BRI ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในปีนี้มีผู้เข้าร่วมการอภิปราย ประกอบด้วย เลขาธิการอาเซียน รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญด้านเศรษฐกิจและการค้าของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย รวมทั้ง รมว.การค้าต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์