นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเขากล่าวว่าภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อ การชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
แม้เบอร์นันเก้คาดว่า ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคจะยังคงขยายตัวขึ้น และเศรษฐกิจจะสามารถฟันฝ่าปัญหาในปัจจุบันไปได้ แต่เขากล่าวว่าผู้บริโภคชาวสหรัฐอาจจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เพื่อไม่ให้ตนเองต้องตกอยู่ในภาวะที่ตึงตัว
"มีความเป็นไปได้มากขึ้นว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคที่ทรุดตัวลงอย่างหนักอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงอย่างรุนแรง ซึ่งคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดจำเป็นต้องตื่นตัวและมีความยืดหยุ่นมากเป็นพิเศษ"
"เศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเดือนที่แล้ว เนื่องจากเกิดความผันผวนครั้งใหม่ในตลาดการเงิน ซึ่งค่อนข้างรุนแรงกว่าที่เกิดขึ้นเมื่อหลายเดือนก่อน สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เงื่อนไขการปล่อยกู้ในตลาดสินเชื่อเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมที่อ่อนไหวต่อสินเชื่อ" เขากล่าว
เบอร์นันเก้ยังกล่าวด้วยว่า ราคาน้ำมันเบนซิน น้ำมันฮีทติ้งออยล์ และอาหารที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐสูงขึ้น ซึ่งเฟดกำลังจับตาดูเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง และเฟดจำเป็นต้องวินิจฉัยว่าแนวโน้มเศรษฐและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อนั้น เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดหรือไม่
"ผมคาดว่ารายได้ภาคครัวเรือนและตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคจะยังคงขยายตัว แต่ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแอลง ภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อ และตลาดหุ้นที่ซบเซาลง อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า" เขากล่าว
สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงานว่า การแสดงความคิดเห็นครั้งหลังสุดของนายเบอร์นันเก้ทำให้นักวิเคราะห์ตีความว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมวันที่ 11 ธ.ค.นี้ และการแสดงความคิดเห็นครั้งนี้มีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทำเนียบขาวคาดว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีหน้าของสหรัฐจะขยายตัวในอัตรา 2.7% ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัว 3.1% เนื่องจากภาวะผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดการเงิน และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลง
ทั้งนี้ เบอร์นันเก้กำลังเผชิญความท้าทายที่หนักหน่วงที่สุดนับตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานเฟดในเดือนธ.ค.2548 โดยนักวิเคราะห์บางคนตั้งข้อสงสัยว่า เพราะเหตุใดเบอร์นันเก้ประวิงเวลานานเกินไปกว่าจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย และข้องใจว่าเขาใช้มาตรการที่แข็งแกร่งพอหรือไม่ในการรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐ
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--