นายปิยะ ซอโสตถิกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้อำนวยการสายลูกค้าธุรกิจรายกลางต่างจังหวัด ธนาคารกรุงเทพ(BBL) กล่าวว่า ธุรกิจสินเชื่อในภาคการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารของ BBL ในปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ 15% ขณะที่คาดว่าสินเชื่อดังกล่าวของธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศจะเติบโตประมาณ 10%
เหตุที่สินเชื่อในภาคธุรกิจส่งออกอาหารจะเติบโตได้ 15% เนื่องจากเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินมากนัก ประกอบกับเศรษฐกิจโลกยังพอขยายตัวได้จึงทำให้การส่งออกอาหารขยายตัวต่อเนื่อง
ขณะที่ปีหน้ามองว่ายอดสินเชื่อการส่งออกอาหารของ BBL อาจชะลอตัวลงจากปีนี้โดยจะอยู่ที่ประมาณ 10% เนื่องมาจากผลของการส่งออกที่คาดว่าจะชะลอตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ประกอบกับมีคู่แข่งใหม่ เช่น จีน เวียดนาม แต่ทั้งนี้ยังเชื่อว่าการส่งออกสินค้าที่ยังคงขยายตัวต่อไปได้ดีในปีหน้า คือ อาหารทะเลแช่แข็ง, ผัก-ผลไม้กระป๋อง, ข้าว และไก่ปรุงสุก
นายปิติ สิทธิอำนวย ประธานกรรมการบริหาร BBL กล่าวว่า ปีหน้าอุตสาหกรรมส่งออกอาหารยังเติบโตได้ดี แต่การส่งออกโดยรวมของประเทศแม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวบ้างและทำให้มูลค่าการส่งออกลดบ้าง แต่ในแง่ปริมาณการส่งออกยังคงเพิ่มขึ้น และเชื่อมั่นว่าการส่งออกของไทยในปี 51 มีโอกาสเติบโตได้ 15-18% เนื่องจากยังมีปริมาณความต้องการบริโภคสูง
ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มนี้ประมาณ 2.4% โดยสินค้าที่ส่งออกได้มาก คือ ข้าว, ผัก-ผลไม้กระป๋อง, ไก่ปรุงสุก
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีหน้าเชื่อว่าจะยังอยู่ในระดับที่ดี เพราะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นและมีรัฐบาลใหม่เข้ามา ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและประชาชน แม้จะเป็นรัฐบาลผสมแต่ก็เชื่อว่าจะมีการออกนโยบายที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ปีหน้ายังมีสิ่งที่ต้องระวังคือความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งหากราคาขึ้นไปแตะที่ 120 ดอลลาร์/บาร์เรล เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะรับไม่ไหวและส่งผลกระทบกับภาคคมนาคมขนส่ง ตลอดจนค่าครองชีพของประชาชน ดังนั้นเรื่องราคาน้ำมันจึงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องพึงระวังอย่างมาก
ด้านนายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมส่งออกอาหารถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของไทย และมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวคิดเป็น 10% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และยังเชื่อว่าจะมีอัตราการขยายตัวได้ต่อเนื่องเพราะสินค้าอาหารถือเป็นสินค้าพื้นฐานที่มีความจำเป็น
ภาครัฐจะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าส่งออก เชื่อมโยงภาคการผลิตอาหารเข้ากับภาคบริการ เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม รวมทั้งผลักดันโครงการครัวไทยไปสู่ครัวโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมด้านการขายสินค้าในกลุ่มอาหารให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลก และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นด้วย
พร้อมกันนี้จะเจาะกลุ่มตลาดส่งออกใหม่ให้มากขึ้นจากปัจจุบันที่ตลาดหลักอย่าง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เริ่มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ในขณะที่ตลาดใหม่กลับมีอัตราการขยายตัวที่น่าพอใจ
นายราเชนทร์ เชื่อว่า แนวโน้มส่งออกอุตสาหกรรมอาหารปีหน้าจะยังเติบโตได้ดี เพราะสินค้าอาหารถือเป็นจุดแข็งของไทย แต่ทั้งนี้สิ่งที่ผู้ผลิตจะต้องคำนึงในการส่งออกสินค้าอาหารเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากผู้นำเข้าหลายประเทศต่างให้ความสำคัญกับจุดนี้มาก ดังจะเห็นได้จากที่แต่ละประเทศออกมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยของสินค้าอาหารเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้บริโภคในประเทศ
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--