นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 และมีมาตรการเยียวยา ดูแลประชาชนกลุ่มภาคแรงงาน ผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยสามารถกลับมาฟื้นฟูและเปิดประเทศได้โดยเร็วนั้น ทางหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังได้รับข้อร้องเรียนจากสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ถึงสภาพปัญหาการดำเนินธุรกิจในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจที่ต้องพึ่งพากำลังแรงงาน ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจ
ดังนั้นจึงมีหนังสือข้อเสนอเป็นการเร่งด่วนไปยังนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เพื่อให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน ได้ขยายมาตรการช่วยเหลือการหักเงินสมทบประกันสังคมต่อไปอีก 3 เดือน คือระหว่างเดือนก.ย.-พ.ย. 64 หรือจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และประคองการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19
"ข้อเสนอขยายมาตรการช่วยเหลือการหักเงินสมทบประกันสังคมต่อไปอีก 3 เดือน หรือจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 มีความสำคัญมากที่จะประคองผู้ประกอบการ นายจ้าง และลูกจ้าง ให้ก้าวพ้นวิกฤตโควิด-19 ในระยะเร่งด่วนนี้" นายพจน์ กล่าว
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ต้องขอบคุณคณะรัฐมนตรี รมว.แรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ที่ได้นำข้อเสนอของหอการค้าไทย เรื่องมาตรการด้านแรงงานในสถานการณ์โควิด-19 ที่ได้นำเสนอต่อกระทรวงแรงงาน โดยได้ออกเป็นมาตรการที่สำคัญ เช่น 1.มาตรการเชิงรุกในการตรวจคัดกรองความเสี่ยงแรงงาน ทั้งคนไทยและต่างด้าว 2.มาตรการเร่งรัดจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตน 3.มาตรการเยียวยาผู้ประกันตนและนายจ้างได้รับความช่วยเหลือในพื้นที่ 29 จังหวัด 4.มาตรการ Factory Sandbox 5.มาตรการผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ กลุ่มมติ 20 ส.ค. 62 และกลุ่มมติ 4 ส.ค. 63 ให้สามารถทำงานต่อในราชอาณาจักรไทยได้ และ 6.มาตรการลดหย่อนการส่งเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้าง ลูกจ้างกลุ่มผู้ประกันตน ตั้งแต่มี.ค. 63 จนถึงปัจจุบัน
นายพจน์ กล่าวว่า มาตราการที่ดำเนินการมาดังกล่าวนั้น ได้ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และการจ้างงานจากการได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งยังช่วยผู้ประกอบการบรรเทาภาระด้านสาธารณสุขของแรงงานและผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง หรือเกิดความเสียหายในระบบธุรกิจน้อยที่สุด เพื่อรักษาไว้ซึ่งการจ้างงานในประเทศ