DUSIT-AAV เตรียมพร้อมรอท่องเที่ยวฟื้น ปรับใช้เทคโนโลยีในงานบริการอำนวยความสะดวกนทท.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 6, 2021 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางศุภจี สุธรรมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานี (DUSIT) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง"การปรับตัวของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวหลังโควิด"ว่า สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวอย่างมาก โดยในเบื้องต้นคาดว่ากระทบเฉพาะปี 63 และเริ่มเห็นธุรกิจกลับมาปลายปี 63 แต่ก็เกิดการะบาดรอบใหม่และก็หนักหน่วงกว่าปี 63 ย่อมกระทบผลประกอบการในปี 64 ดังนั้น การวางแผนธุรกิจด้วยแผนเดียวไม่พอ โดยมองว่าการกลับมาของธุรกิจท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับการกระจายวัคซีน ความพร้อมของผู้ประกอบการที่พร้อมปรับตัว

นางศุภจี เห็นว่าธุรกิจท่องเที่ยว เปลี่ยนแปลงไปแล้วหลังจากเกิดวิกฤตโควิด 1) Customer Profile โดยผู้เดินทางเพื่อธุรกิจในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้าจะกลับมาไม่เต็มที่เพราะเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเดินทางมาประชุมหรือประชุมสัมมนา โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย ขณะเดียวกันลูกค้าเดินทางท่องเที่ยวก็เปลี่ยนไป ไทยเคยพึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งมีนัยสำคัญ โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีน 10 กว่าล้านคนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมด 40 ล้านคน โดยวันนี้รัฐบาลจีนไม่แนะนำให้เดินทางออกนอกประเทศให้เดินทางภายในประเทศแทน ดังนั้นอาจจะปรับเน้นลูกค้าแบบ segment

2) Customer Behaviour ผู้ประกอบการต้องตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป การท่องเที่ยวที่เน้นสุขภาพ wellness 3) Convinience และ 4) Confidence รวมไปถึงทำอย่างไรให้ลูกค้ามีความสะดวกสบายและมั่นใจที่จะมาท่องเที่ยว ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนไว้มาก

นอกจากนี้ ธุรกิจได้นำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาปรับปรุงการทำงาน ปรับระบบหลังบ้านและหน้าบ้านเพื่อไว้รองรับลูกค้า ทั้งการปรับปรุงระบบบริหารทรัพยากรองค์กรและบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า หรือการนำดาต้ามาเชื่อมโยงกับธุรกิจที่กระจาย 16 ประเทศ พนักงานกว่า 8 พันคน และมาใช้กับลูกค้าเพื่อลดการสัมผัส

"ไม่มีใครตอบได้ว่าธุรกิจจะกลับมาเมื่อไหร่ แต่ก็ต้องเตรียมความพร้อม"ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม DUSIT กล่าว

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชียเอวิเอชั่น (AAV) และสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ขณะนี้การเดินทางในประเทศเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นหลังจากผ่อนคลายให้เริ่มเดินทางได้ในเดือนก.ย. แต่ยังไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยว หากควบคุมสถานการณ์ โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลง และการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น คาดว่าเดือนต.ค.น่าจะโปรโมทการท่องเที่ยว และเดือนพ.ย.-ธ.ค.ก็น่าจะเปิดท่องเที่ยวในประเทศได้

ส่วนการท่องเที่ยวในต่างประเทศก็ยังไม่รู้จะได้เปิดเมื่อใด แต่ขณะนี้ขอยึดตัวเลขของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ที่คาดว่าจะเปิดได้ต้นปี 65 หลังไทยฉีดวัคซีนได้แล้ว 70% ของประชากร และคาดว่าในปี 65 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 13 ล้านคน (กรณี Best case) และปี 66 ก็จะกลับมามากขึ้น โดยไทยแอร์เอเชียก็เตรียมความพร้อมทั้งเรื่องเครื่องบินที่หมั่นบำรุงรักษาให้พร้อมบิน ด้านบุคคลากร ที่มีการฝึกอบรมอยู่ต่อเนื่อง เพราะต้องมีความชำนาญเฉพาะทาง และพนักงานก็ฉีดวัคซีนเกือบครบ 100% ส่วนลูกค้า มีการติดต่อสื่อสารลูกค้าตลอด การดูแลผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบ (Refund)

นอกจากนี้ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้งานบริการ เช่น เช็คอินล่วงหน้า หรือโหลดกระเป๋าด้วยตัวเอง หรือการเช็คอินด้วยระบบจดจำใบหน้า ซึ่งเห็นว่าบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ก็กำลังจะนำระบบจดจำใบหน้ามาใช้เช่นเดียวกับสนามบินประเทศอื่น และการเดินทางอนาคตจะมีการเช็คการรับวัคซีนหรือตรวจหาเชื้อ ซึ่งจะนำผลมาอยู่ในแพลตฟอร์ม ซึ่งกำลังทดลองอยู่ซึ่งรอรัฐบาลไทยโดยกระทรวงคมนาคมคมนาคม หรือ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จะเลือกแพลตฟอร์มใด ขณะเดียวกัน การซื้อขายตั๋วออนไลน์มากขึ้นซึ่งกำลังพัฒนาระบบและมีความปลอดภัย ที่จะมาใช้ในอนาคต

"ผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อม คิดบวกเข้าไว้ ธุรกิจท่องเที่ยวต้องอยู่บนความจริง และยอมรับการเปลี่ยนแปลง แล้วก็มองไปข้างหน้า" นายสันติสุข กล่าว

นางสาวอัจฉรา บุรารักษ์ ผู้บริหารร้านอาหารกลุ่มไอเบอรี่ คาดว่าจะฟื้นตัวได้อย่างเร็วในปลายปี 64 ซึ่งตอนนี้ได้เตรียมไว้หลายแผน เพราะไม่สามารถคาดเดาได้โรคระบาดจะหยุดเมื่อไหร่ และนโยบายของรัฐบาลก็เปลี่ยนแปลงตลอด ระหว่างที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ก็รักษาความอยู่รอดขององค์กร ดูกระแสเงินสด (cash flow) อย่างละเอียด ควบคุมรายจ่าย และนำ big data มาวิเคราะห์ โดยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญที่เข้ามาช่วยลดค่าใช้จ่าย ช่วยสื่อสารกับลูกค้าได้ดี รวมทั้งการขยายครัวทั้งนอกห้างในห้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ