นางศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการ คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า ผลการลงทุนของ กบข. ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 64 (ม.ค. - มิ.ย. 64) กบข. สามารถสร้างผลตอบแทนแผนหลัก (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) สูงถึง 3.68% โดยสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงสุด 3 อันดับ ประกอบด้วย สินค้าโภคภัณฑ์ 26.2% ตราสารทุนโลกตลาดพัฒนาแล้ว 13.1% และตราสารทุนไทย 9.0% สะท้อนการวางกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นลงทุนสินทรัพย์เติบโต ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา
"ช่วงไตรมาส 2 การลงทุนทั่วโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป จากเม็ดเงินจำนวนมากที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบ เสริมด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทุกกลุ่มได้รับอานิสงส์ไปด้วย สอดรับกับกลยุทธ์การลงทุนของ กบข. ที่มีการกระจายการลงทุนไปในตราสารทุนตลาดพัฒนาแล้ว" นางศรีกัญญา กล่าว
สำหรับแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 64 มองว่าเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงต้องจับตามองคือ แผนการบริหารจัดการสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (Tapering) แนวโน้มการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด และทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปี ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดทุนและตลาดเงินทั่วโลก
นอกจากนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ทำให้ความสำคัญของกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงมีความจำเป็นอย่างมาก กบข.จึงวางกลยุทธ์การลงทุนโดยปรับลดระยะเวลาการถือครองพันธบัตรเพื่อป้องกันความเสี่ยง และปรับลดอัตราการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับมุมมองเงินบาทที่อ่อนค่าลง
ขณะที่คาดการณ์ว่าในไตรมาส 4/64 ตัวเลขการส่งออกของไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นมาได้ ผนวกกับเป็นช่วงที่ไทยจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนได้มากขึ้น และในปี 65 นักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับเข้ามาในประเทศได้ ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และเศรษฐกิจจะกลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง