กนอ. ผุด 4 นิคมฯใหม่ใน EEC ปีนี้, มั่นใจสมาร์ทปาร์คพร้อมดึงลงทุน New S-Curve ตามแผนปี 67

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 7, 2021 14:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กนอ. ผุด 4 นิคมฯใหม่ใน EEC ปีนี้, มั่นใจสมาร์ทปาร์คพร้อมดึงลงทุน New S-Curve ตามแผนปี 67

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในปี 2564 มีนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานแห่งใหม่ที่จะจัดตั้งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งสิ้น 4 แห่ง ได้แก่

1.นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง จ.ระยอง พื้นที่ 621 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ

2.นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ จ.ชลบุรี พื้นที่ 1,987 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ

3.นิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีน อินดัสเตรียล เอสเตท จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 2,191 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาร่วมดำเนินงานกับ กนอ.

กนอ. ผุด 4 นิคมฯใหม่ใน EEC ปีนี้, มั่นใจสมาร์ทปาร์คพร้อมดึงลงทุน New S-Curve ตามแผนปี 67

4.นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทคซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 1,181 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาร่วมดำเนินงานกับ กนอ. โดยนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่จะดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เหล็กและโลหะภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ และ ปิโตรเคมี เป็นต้น

"การลงทุนในพื้นที่อีอีซีจะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และเกิดการจ้างงานตามมาจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซีทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา 40 แห่ง มีเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่กว่า 2.04 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกัน กนอ.ได้เตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไว้รองรับการขยายตัวด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้การเติบโตด้านอุตสาหกรรมอยู่คู่กับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน" นายวีริศ กล่าว

นอกจากนี้ กนอ.ได้เร่งเดินหน้าโครงการสำคัญๆ อาทิ โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) ที่คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2567 ตามแผนงานที่วางไว้ เพื่อดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve)

ทั้งนี้ได้แบ่งพื้นที่รองรับการลงทุน ดังนี้ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 301.70 ไร่ อุตสาหกรรมการแพทย์ 182.84 ไร่ อุตสาหกรรมดิจิทัล 163.93 ไร่ และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 75.17 ไร่ โดยผลประโยชน์ทางตรงที่จะคาดว่าเกิดขึ้นหลังเริ่มมีการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถสร้างมูลค่าของจีดีพีในประเทศต่อปีอยู่ที่ 53,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานในระยะก่อสร้างประมาณ 200 คน ส่งผลให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชนประมาณ 24 ล้านบาทต่อปี ในระยะดำเนินการคาดว่าจะมีการจ้างงานประมาณ 7,500 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,400 ล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกัน กนอ.ยังได้เดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่มีการสัมมนาทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และจะเปิดดำเนินการตามแผนในปี 2569 โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ทางน้ำของอาเซียนสู่เศรษฐกิจนานาชาติ เพื่อเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงกับภูมิภาค และสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มีความสามารถในการรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่น เกิดการจ้างงาน สร้างเศรษฐกิจชุมชน และเพิ่มรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ