รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประทศไทย(ธปท.)มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 51 ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศที่จะกลับเข้ามา โดยเฉพาะเรื่องการเมืองที่เอกชนเฝ้าติดตามอย่างใจจดจ่อ หากการเมืองเป็นไปด้วยดีก็จะทำให้การลงทุนฟื้นคืนมาได้
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยถือว่ายังไปได้ดี เพราะโครงสร้างพื้นฐานยังดี อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำเอื้อต่อการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ระดับ 3.25% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR เฉลี่ยที่ 7% ขณะที่สภาพคล่องในระบบก็มีเพียงพอ และอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ในอัตราที่สูงถึง 75-76%
"สิ่งที่สำคัญในขณะนี้คือความเชื่อมั่นภายในประเทศ ที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องได้"นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่า ธปท.ด้านเสถียรภาพการเงิน กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง"ทิศทางเศรษฐกิจในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อและแนวโน้มการลงทุน"
นางอัจนา มองว่า ปัญหาค่าเงินบาทไม่ใช่ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบรุนแรง แม้ว่าภาคการส่งออกอาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทจะทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไม่สูงขึ้นมาก
การที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นถึง 80-90 เหรียญ/บาร์เรล ก็ไม่ควรกังวลมากเกินไป เพราะปัจจุบันการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันของทุกประเทศทั่วโลกลดลง เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ซึ่งผู้ประกอบการก็พยายามหาวิธีลดต้นทุน และยังมองว่าในที่สุดราคาน้ำมันดิบก็จะปรับลดลงตามวัฎจักรได้เอง
นางอัจนา กล่าวว่า ตามที่ได้ติดตามสถานการณ์การลงทุนในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะเห็นได้จากปริมาณการนำเข้าเครื่องจักร และสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งจะช่วยเพิ่มความต้องการเงินดอลลาร์ และลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทลงได้
"ภาคการลงทุนตอนนี้คงยังไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้นจะต้องติดตามดูว่าหลังการเลือกตั้ง ความเชื่อมั่นจะกลับมาเป็น 100% ได้หรือไม่ ถึงแม้ปัจจัยทุกอย่างยังเอื้อให้เศรษฐกิจไทยเติบโต เป็นเรื่องที่แปลกที่ความเชื่อมั่นจะกลับมาเร็ว แต่หากความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้เร็วทุกอย่างก็จะกลับมาได้เร็วเหมือนกัน"นางอัจนา กล่าว
นางอัจนา กล่าวว่า ภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ที่ ธปท.เป็นห่วงและเฝ้าติดตาม คือ การขยายตัวของสินเชื่อที่เติบโตระดับต่ำ เนื่องจากเอกชนยังไม่กล้าลงทุนจากการขาดความเชื่อมั่น และมองว่าการแข่งขันยังค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ยังมีภาระที่ต้องดำเนินการตามมาตรฐาน IAS39
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า แม้จะผ่านการเลือกตั้งในเดือนธ.ค.แต่ภาวะเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1/51 ก็ยังไม่แน่ใจฟื้นตัวหรือไม่ โดยเฉพาะปัญหาราคาสินค้ามีแนวโน้มถีบตัวสูงขึ้น ขณะที่งบลงทุนของภาครัฐก็เบิกจ่ายไม่ทัน ประกอบกับ เงินในช่วงเลือกตั้งอาจจะไม่สะพัดเพียงพอ
ส่วนปัญหาราคาน้ำมันและปัญหาซับไพร์มแม้ว่าจะส่งผลต่อเนื่องในปีหน้า แต่ปัจจัยทั้งสองยังสามารถคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ในเรื่องของการเมืองเป็นสิ่งที่คาดการณ์ยาก แต่หากภาพการเมืองชัดเจนก็จะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ทำให้ความเชื่อมั่นกลับมา รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน
--อินโฟเควสท์ โดย จริญยา ดำสมาน/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--