(เพิ่มเติม) ธปท.เผย Q3/50 ระบบแบงก์มีกำไรสุทธิ 1.4 หมื่นลบ. สินเชื่อชะลอ-NPL เพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 2, 2007 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          น.ส.นวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวมในไตรมาส 3 ของปี 2550 ว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 4.6 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายด้านการกันสำรองและภาษีแล้วมีกำไรสุทธิ 1.4 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่มีผลขาดทุน
ขณะที่สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากร้อยละ 5.9 ณ สิ้นปีก่อน โดยสินเชื่อภาคธุรกิจซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 77 ของสินเชื่อรวม หดตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน สะท้อนการลงทุนภาคเอกชนที่อยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากความไม่แน่นอน แม้ดอกเบี้ยจะได้มีการโน้มลดลงไปบ้างแล้วตามการผ่อนคลายนโยบายการเงินของ ธปท. ในช่วง ที่ผ่านมา ประกอบกับภาคการผลิตหลายภาคก็มีการผลิตในระดับที่ใกล้กับกำลังการผลิตสูงสุดแล้ว ส่วนสินชื่ออุปโภคบริโภคซึ่งเป็นสัดส่วนร้อยละ 23 ของสินเชื่อรวมยังขยายตัวสูงที่ร้อยละ 15.9 ชะลอลงเทียบกับครึ่งแรกของปี จากความระมัดระวังในการใช้จ่ายของผู้บริโภคมากขึ้น
ระบบธนาคารพาณิชย์รักษาอัตราผลตอบแทนจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์ในระดับ ร้อยละ 2 และควบคุมต้นทุนด้านการดำเนินงานได้โดยค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมลดลงต่อเนื่องเป็นร้อยละ 53.6 อย่างไรก็ตามระบบธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อดูแลให้มีการเตรียมตัวและเงินทุนที่เพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ โดยปัจจุบันระบบธนาคารพาณิชย์มีการตีราคาสินทรัพย์และกันสำรองตามมาตรฐาน IAS39 ซึ่งเมื่อประกอบกับค่าใช้จ่ายด้านภาษี ทำให้มีกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์ร้อยละ 0.6
สำหรับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) มียอดคงค้าง (gross) เพิ่มขึ้น 1.3 หมื่นล้านบาทจากไตรมาส 2 โยมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากร้อยละ 7.8 ณ สิ้นไตรมาส 2 เป็นร้อยละ 7.9 ในขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ(หลักหักสำรองหนี้เสีย) เท่ากับไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 4.4 ของสินเชื่อรวม
สินเชื่อภาคธุรกิจมี NPL เพิ่มขึ้น 1.3 หมื่นล้านบาท โดยมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมเป็นร้อยละ 8.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.6 ในไตรมาส 2 ปี 2550สินเชื่ออุปโภคบริโภคมียอด NPL เพิ่มขึ้น 87 ล้านบาท จากไตรมาส 2 โดยมีสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมลดลงเล็กน้อย จากร้อยละ 4.8 เหลือร้อยละ 4.6 จากการลดลงของ NPL ของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก
แม้จะเริ่มมีแรงกดดันด้านคุณภาพสินเชื่อบ้างจากภาวะเศรษฐกิจและผลประกอบการธุรกิจที่ชะลอตัว แต่ระบบธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการบริหารความเสี่ยงและการดูแลสินเชื่อ ทำให้ยังมีกำไรสุทธิที่ช่วยเสริมเงินกองทุนให้มีความแข็งแกร่งขึ้น ประกอบกับธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีการเพิ่มทุนทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์สี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.1 สูงกว่าร้อยละ 8.5 ที่เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำทางกฎหมาย ซึ่งจะช่วยให้สามารถรองรับความท้าทายและ การขยายธุรกิจในช่วงต่อไปได้ดีขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ