นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ "Digital พลิกโฉมการค้าโลก" ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากวิถีปกติ และเชื่อมโยงการใช้ชีวิตกับเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การค้าออนไลน์ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ผู้ประกอบการไทยที่ปรับตัวได้ทันจึงเข้าถึงโอกาสนี้ได้เร็ว และมีส่วนทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนต้องเร่งบูรณาการความร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าถึงและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ค้าขายอย่างไร้พรมแดนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างคล่องตัวและมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นอย่างมั่นใจ ด้วยความพร้อมด้านข้อมูลข่าวสาร เงินทุน และเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ
ด้านนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า ในปี 63 เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกต้องเผชิญวิกฤตโควิด-19 จนทำให้ GDP โลกหดตัว 3.2% ขณะที่การค้าสินค้าและบริการของโลกหดตัว 9% และ 15% ตามลำดับ แต่การค้าออนไลน์ (E-Commerce) ของโลกกลับขยายตัวกว่า 20% จาก 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 62 เป็น 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 63 และคาดว่าจะมีมูลค่า 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 64 และเพิ่มขึ้นเป็น 7.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 68
ดังนั้นเทคโนโลยีดิจิทัลได้มีส่วนช่วยพยุงหรือรองรับเศรษฐกิจในช่วงขาลง ขณะเดียวกันในช่วงขาขึ้นก็เป็นเสมือนสปริงบอร์ด เร่งให้ธุรกิจเติบโตได้แบบก้าวกระโดด โดยปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไป โดยมากกว่า 50% ของผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้จ่ายออนไลน์บ่อยกว่าที่ผ่านมา และมากกว่า 40% ของผู้บริโภคมีแนวโน้มรับชมสื่อบันเทิงออนไลน์บ่อยกว่าเดิม เพราะคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว สำหรับสินค้าและบริการดิจิทัลที่มีแนวโน้มขยายตัวดีในปัจจุบัน เช่น อุตสาหกรรมเกม สื่อบันเทิงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น
นายรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ต้องเตรียมพร้อมที่จะเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจในโลกการค้ายุคใหม่ โดยต้องขจัด "ความกลัว" หรือ "ความไม่กล้าเสี่ยง" ออกไป แต่ต้องมั่นใจที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสถาบันการเงิน เช่น EXIM BANK ให้เป็นประโยชน์ เพื่อเสริมธุรกิจให้แข็งแรง ทั้งด้านเทคโนโลยี ความรู้ เงินทุน และเครื่องมือบริหารความเสี่ยง ที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปสู่โอกาสใหม่ๆ ได้อย่างประสบความสำเร็จ
"ธุรกิจ SMEs มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยสูงมาก โดยมีสัดส่วนต่อ GDP รวมทั้งประเทศกว่า 30% ทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน ดังนั้นการสนับสนุนให้ SMEs สามารถขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้แม้ในภาวะวิกฤต รวมถึงขยายธุรกิจให้เติบโตได้ท่ามกลางโอกาสที่เกิดขึ้นในโลกวิถีใหม่ (New Normal) จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและเป็นรากฐานการพัฒนาธุรกิจ SMEs อย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยตอบสนองต่อเทรนด์ความนิยมของผู้บริโภคยุคใหม่และเมกะเทรนด์ที่ส่งผลกระทบต่อโลกเป็นวงกว้างในอนาคตข้างหน้า" นายรักษ์ กล่าว
ทั้งนี้ EXIM BANK มีบริการสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน ประกันการส่งออก และระบบดิจิทัล เช่น ระบบบริหารจัดการความรู้และประเมินความพร้อมด้านการส่งออก (Thailand Export Readiness Assessment and Knowledge Management : TERAK) และ Thailand E-commerce Pavilion
ทางด้านนายฐากร ปิยพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เครือไทย โฮลดิ้งส์ (TGH) กล่าวว่าปัจจุบันเงินเข้าไปอยู่ในช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และผู้บริโภคมีพฤติกรรมการถอนเงินจากตู้ ATM ลดลง ในขณะที่มีการโอนเงินใช้จ่ายผ่านมือถือมากขึ้น ดังนั้นธุรกิจการค้าต้องเริ่มปรับตัวโดยการนำเทคโนโลยี และกลยุทธ์ทางดิจิทัลเข้ามาใช้ในการวางรากฐาน และเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ (Digital Transformation) เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ในการขายแก่ผู้บริโภคให้ดีขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ธุรกิจสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิผล ทั้งนี้จะต้องมีการเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูล (Data) โดยมีการมอนิเตอร์ข้อมูลเป็นระยะๆ และศึกษาข้อมูลเชิงลึกจากข้อมูลที่เก็บได้ จากข้อมูลของลูกค้า และข้อมูลของคู่ค้า หลังจากนั้นให้นำมาวิเคราะห์ ซึ่ง Data จะแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค และสามารถบอกได้ว่าความจริงแล้วนั้นธุรกิจต้องการอะไร
ด้านนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ TARAD.com เปิดเผยว่า ปัจจุบันสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาในประเทศไทยผ่านช่องทางตลาดขายของบนโลกออนไลน์ (Marketplace) ในสัดส่วนที่มากขึ้นและมีราคาถูก ดังนั้นคนไทยจึงต้องรีบปรับตัว โดยการนำธุรกิจเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ ซึ่งการทำธุรกิจผ่านออนไลน์จะต้องมีช่องทางการขายที่หลากหลาย, มีช่องทางการชำระเงิน (Payment), มีระบบขนส่ง, มีการทำการตลาด และมีการบริการลูกค้าที่ดี
"ปัจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป การตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค จะต้องมีทั้งข้อมูล และประสบการณ์ ธุรกิจจึงต้องทำการวิเคราะห์ข้อมูล และขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ผู้บริโภคยังไม่เชื่อการทำการตลาดแบบเดิมๆ เช่น โฆษณา แต่ผู้บริโภคมีการตัดสินใจโดยอ้างอิงช่องทางออนไลน์มากขึ้น เช่นการดูรีวิวสินค้า เป็นต้น" นายภาวุธ กล่าว