ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือน ส.ค.64 ปรับตัวลดลงมาที่ 39.6 จากระดับ 40.9 ในเดือนก.ค. 64 โดยดัชนีฯ อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 11 เดือน และยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 33.8 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ระดับ 36.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 48.6 โดยดัชนีฯ ปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับในเดือน ก.ค.64
โดยปัจจัยลบที่สำคัญ คือ ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3-4 ตลอดจนการระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม ซึ่งกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ภาคธุรกิจ และภาคการท่องเที่ยว, ความกังวลกับแผนกระจายวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และไม่เป็นไปตามเป้าหมาย, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้เหลือโต 0.7-1.2%, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลด GDP ปีนี้เหลือโต 0.7%, ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมือง และการชุมนุมทางการเมืองในประเทศ, ผู้บริโภคกังวลต่อภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ปัญหาค่าครองชีพ และเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จาก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่อนุญาตให้บางกิจการกลับมาเปิดให้บริการได้ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด, มาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ , สภาพัฒน์รายงาน GDP ไตรมาส 2 ขยายตัว 7.5%, กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%, การส่งออกเดือน ก.ค. ขยายตัว 20.26%, การฉีดวัคซีนของโลกและการฉีดวัคซีนในประเทศที่เริ่มเป็นรูปธรรม