นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ "อนาคตเศรษฐกิจไทย ใครชี้ชะตา" ว่า จากการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน จนมาถึงปัจจุบัน แม้ยังมีการแพร่ระบาดในอัตราที่สูง แต่มีการทยอยฉีดวัคซีนมากขึ้น และมีจำนวนเพียงพอ ที่จะสามารถฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับประชาชนได้ตามเป้าหมายที่ 50 ล้านคนในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องดูแลการแพร่ระบาดและหามาตรการป้องกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงมีมาตรการต่างๆออกมา และเชื่อว่าหลังจากนี้สถานการณ์จะดีขึ้น
ทั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 เติบโตที่ 7.5% และจากการผ่อนคลายมาตรการตั้งแต่กันยายนนี้ และหากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี เชื่อว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 และ 4 น่าจะดีขึ้น ผลลัพธ์น่าเป็นบวกในปีนี้ และปีหน้าจะเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น
สำหรับอนาคตเศรษฐกิจไทย คนที่ชี้ชะตาได้ คือ ทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล เอกชนและประชาชน ที่ต้องร่วมกันทำงานและพาเศรษฐกิจไทยกลับมาเข้มแข็ง โดยขณะนี้มีสัญญาณบวกในเชิงการปรับตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนภาคเอกชนมีการปรับตัวได้ดี ผลกำไรในตลาดหลักทรัพย์เป็นเครื่องชี้วัดอย่างหนึ่งในการปรับตัวของภาคเอกชน ผลประกอบการดีขึ้น ครึ่งปีแรกมีกำไร 5 แสนกว่าล้านบาทซึ่งดีกว่าปีที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงภาคส่งออกดีขึ้นขยายตัว 10% แต่ต้องยอมรับว่ายังขาดรายได้หลักจากการท่องเที่ยวอยู่
อีกทั้งภาคเอกชนมีความพยายามและเล็งเห็นโอกาสขยายลงทุนมากขึ้นในประเทศไทยและต่างประเทศ และครึ่งปี 64 มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 4 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว และถ้าหากรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนไทยและต่างประเทศ มีความเป็นไปได้จะมีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงถึง 6 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้มียอดขอรับการส่งเสริมสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการเดินหน้าเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนตลอด 6 ปี วงเงินกว่า หลายล้านล้านบาท เป็นฐานรองรับการลงทุนและจะทยอยก่อสร้างเสร็จ และโครงการเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งในจำนวนคำขอส่งเสริมการลงทุนมากว่า 40% สนใจมาลงทุนในพื้นที่ EEC ซึ่งจะเป็นฐานให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
นอกจากนี้ จะมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ดิจิทัลเทคโนโลยี คลาวด์เซอร์วิส เอไอ ซึ่งจากตัวเลขการส่งเสริมการลงทุนมีสัญญาณบวกเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงการเสริมสร้างคนตัวเล็กให้ภาคเอสเอ็มอีมีความเข้มแข็ง และให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้อุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดเสภาอุต สภาหอ มีการยึดโยงอุตสาหกรรมขนาดกลาง เล็ก สามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้
ส่วนนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ต้องใช้เงินมหาศาลมากถึง 7 แสนล้านบาทต่อปี เป็นภาระในอนาคตที่เกิดกับประเทศไทย ทุกประเทศให้ความสนใจการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รัฐบาลจึงมีนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า เป็นส่วนหนึ่งที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนโยบายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นด้วย
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนการใช้งบประมาณภาครัฐยังดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมายใกล้ 100% ให้มากที่สุด เพราะถือเป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ ส่วนรายได้จากการอุปโภคบริโภค ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางสาธารณสุขที่เข้มงวด แต่เมื่อมีการผ่อนคลายมาตราการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมาการอุปโภคบริโภคดีขึ้นตามลำดับ รวมถึงยังมีโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน สามารถช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้
อีกทั้ง ยังมีการพัฒนาระบบการทำงานภาครัฐให้เร็วขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เร็วขึ้น การจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของไทยยังอยู่อันดับ 10 กว่า ต้องทำให้เป็นท็อปเทนให้ได้ภายใน 1-2 ปีนี้
สำหรับมาตรากรช่วยประชาชนรัฐบาลมีมาตรการตลอด 18 เดือนออกมาช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก วงเงินรวมสูงถึง 1 ล้านล้านบาท และยังมีมาตราการที่ยังคอยช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตลอดเวลา และยังมีงบประมาณเหลืออยู่ประมาณ 4 แสนล้านบาท เพื่อนำมาเตรียมมาตรการช่วยเหลือ พื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
พร้อมทั้ง ให้ความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจของไทย ซึ่งอันดับความน่าเชื่อถือยังคงที่ ก่อนมีโควิด-19 ความพร้อมของธนาคารพาณิชย์ยังมีความเข้มแข็งดี เมื่อพ้นไปแล้ว ประเทศมีรากฐานต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม นายสุพัฒนพงษ์ ยอมรับว่า ยังมีปัญหาเรื่องหลุมรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งกว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาทั้งโลกต้องใช้เวลาหลายปี รัฐบาลใช้นโยบายส่งเสริมให้เปิดประเทศ ที่ จ.ภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. จนถึงปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาหมื่นคน ยอดการจอง 5 แสนห้อง และมีออกแบบการท่องเที่ยวแบบมีคุณภาพ มีการดูแลด้านสาธารณสุขเป็นอย่างดี
"ผมยังมีความเชื่อมั่นว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยค่อยๆเดินเติบโตไป ด้วยการช่วยเหลือจากทุกฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะยังเรื่องของหลุมรายได้ที่ยังต้องรอการปิดอยู่ เพราะประเทศไทยต้องอาศัยรายได้ท่องเที่ยว ซึ่งต้องใช้เวลา เราต้องช่วยกันโครงการนำร่องอย่างภูเก็ตแซนบ็อกซ์ให้เปิดประเทศให้เร็วขึ้น ให้มีรายได้เข้ามา"นายสุพัฒพงษ์ กล่าว