นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนส.ค.64 (TCC-CI) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 25-31 ส.ค.64 โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 19.8 ลดลงจากระดับ 20.7 ในเดือนก.ค. 64 เป็นการปรับตัวลดลงในทุกภาค โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ต่ำสุดในรอบ 32 เดือน นับตั้งแต่ทำการสำรวจมาตั้งแต่เดือนม.ค. 62
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 19.4 ลดลงจากเดือนก.ค.ที่ 20.5, ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 20.8 ลดลงจากเดือนก.ค.ที่ 21.8, ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 23.7 ลดลงจากเดือนก.ค. ที่ 24.8, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 19.8 ลดลงจากเดือนก.ค.ที่ 20.7, ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 19.3 ลดลงจากเดือนก.ค.ที่ 20.1 และภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 16.9 ลดลงจากเดือนก.ค.ที่ 17.8
ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือน ส.ค.นี้ลดลง มาจากความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในประเทศไทยที่ยอดผู้ติดเชื้อสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั้งปัจจุบันและในอนาคต, มาตรการควบคุมสูงสุดและเข้มงวดใน 29 จังหวัด เพื่อควบคุมการระบาดไวรัสโควิด ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และบริการ ซึ่งการสั่งปิดกิจการ ส่งผลให้ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องและทยอยปิดกิจการ มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น หรือมีการลดเงินเดือนอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังมีความกังวลเสถียรภาพทางการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมือง
"จะเห็นได้ว่ามาตรการล็อกดาวน์ จะส่งผลกระทบเป็นส่วนใหญ่กับกรุงเทพฯ ปริมณฑล และในภาคกลาง ซึ่งอยู่ใน 29 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มาตรการล็อกดาวน์ทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน ทุกภาคตอบเหมือนกันคือมีคนตกงานเยอะขึ้น ขาดกำลังซื้อ หนี้นอกระบบเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะภาคอีสาน ทำให้เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจ เริ่มซึมลึกลงสู่ฐานราก ส่วนภาคธุรกิจเองก็เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ส่งผลให้เศรษฐกิจซึมตัว" นายธนวรรธน์ระบุ
พร้อมมองว่า key message ที่สำคัญหลังจากนี้ คือการพิจารณาเปิดเมืองอย่างปลอดภัย ภายใต้การฉีดวัคซีนที่เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อได้
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจได้มีข้อเสนอแนะถึงภาครัฐ ดังนี้
1. เร่งจัดทำแผนการเปิดเมืองที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้นักธุรกิจและประชาชนเตรียมความพร้อม
2. เร่งจัดหาและฉีดวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด 19
3. เร่งกำหนดมาตรการเฝ้าระวัง และหาแนวทางป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ไม่ให้แพร่ระบาดภายในประเทศ
4. ปรับมาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ประสบปัญหาเข้าไม่ถึงสินเชื่อ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำ
5. สร้างแผนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย