สมาคมตลาดตราสารหนี้ โวยมาตรการ 30% สกัดต่างชาติลงทุนสวนทางตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 21, 2007 17:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า มาตรการกันสำรอง 30% ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประกาศใช้ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้สัดส่วนการลงทุนของต่างชาติลดลงเหลือไม่ถึง 1% ของมูลค่าการซื้อขายรวม ซึ่งสวนทางกับตลาดตราสารหนี้ในต่างประเทศที่พยายามส่งเสริมให้ต่างชาติเข้าไปลงทุน
ขณะนี้ตลาดตราสารหนี้ของสหรัฐฯ มีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปซื้อขายสูงถึง 25% ส่วนตลาดตราสารหนี้ในประเทศอื่นส่วนใหญ่มีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนประมาณ 5%
"ที่ผ่านมาก่อนออกมาตรการ 30% ก็มีต่างชาติมาซื้อบอนด์ในไทยน้อยอยู่แล้ว แค่ 1.5-2% หรือสูงสุดแค่ 3% ซึ่งไม่ได้เยอะอยู่แล้ว แต่เมื่อออกมาตรการกันสำรอง 30% ทำให้ต่างชาติไม่มีความคล่องตัวในการเข้ามาลงทุนมากขึ้น ตอนนี้ก็ยังไม่ยกเลิก ไม่รู้ว่าแบงก์ชาติกลัวอะไร หรือยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ" นายณัฐพล กล่าว
นายณัฐพล ยังกล่าวในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ โดยเชื่อว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)จะให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวได้ในต้นธ.ค.นี้ โดยที่คณะกรรมาธิการฯ จะเสนอร่างกฎหมายในวาระที่ 2-3 ช่วงต้นธ.ค. และคาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านภายในรัฐบาลชุดนี้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง
นายณัฐพล กล่าวว่า การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ จะช่วยทำให้การออกพันธบัตรรัฐบาลมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยรัฐบาลสามารถออกพันธบัตรได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องออกเฉพาะเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ หรือเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ภาครัฐเท่านั้น แต่ยังสามารถออกพันธบัตรเพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ได้โดยมีต้นทุนที่ต่ำลง เช่น การทยอยกู้ล่วงหน้าได้นานถึง 12 เดือนก่อนครบกำหนดไถ่ถอน ซึ่งจะทำให้การปรับเปลี่ยนตารางการออกพันธบัตรสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
นอกจากนี้ ยังทำให้รัฐบาลสามารถออกพันธบัตรได้มากสุดถึงปีละ 3 แสนล้านบาท ถือเป็นกรณีสูงสุดโดยที่รัฐบาลไม่มีภาระการชำระหนี้หรือต้องจัดทำงบประมาณแบบเกินดุล หรือกรณีปกติยังสามารถออกพันธบัตรได้ถึงปีละ 1 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งยังเป็นการช่วยสร้าง Benchmark ในตลาดด้วย
พร้อมกับ เชื่อว่าในอีก 3-4 ปีข้างหน้าภาคเอกชนจะทยอยออกตราสารหนี้เข้าสู่ตลาดมากขึ้น เพราะหลังจากที่เกิดวิกฤตในปี 40 ได้ส่งผลให้รัฐบาลออกพันธบัตรเพิ่มสูงขึ้น 8-10 เท่า ซึ่งเป็นการสวนทางกับตลาด อีกทั้งเห็นว่าธปท.ควรจะออกพันธบัตรน้อยลง และเชื่อว่าใน 1-2 ปีหลังจากที่ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย มีผลบังคับใช้จะทำให้การออกพันธบัตรของธปท.ลดลง เนื่องจากจะมีเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ