น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มเข็มของเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ 5 จำนวน 1,013 โครงการ ในพื้นที่ 11 จังหวัด วงเงินรวม 3,484.27 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายเงินจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ
สำหรับ 1,013 โครงการในพื้นที่ 11 จังหวัดนี้จำแนกลักษณะโครงการดำเนินการเป็น 4 กลุ่มลักษณะ ได้แก่ 1)กลุ่มโครงการพัฒนาสินค้า ท่องเที่ยว บริการและการค้า จำนวน 46 โครงการ หรือ 5% ของจำนวนโครงการรวม 2)กลุ่มโครงการยกระดับประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร จำนวน 33 โครงการ หรือ 3% ของจำนวนโครงการรวม 3)โครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานจำนวน 43 โครงการ หรือ 4% ของจำนวนโครงการรวม และ 4)กลุ่มโครงการที่เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 891 โครงการ หรือ 88% ของจำนวนโครงการ
ทั้ง 11 จังหวัดที่ได้รับอนุมัติโครงการฯ ครั้งที่ 5 ประกอบด้วย ลำพูน จำนวน 115 โครงการ วงเงิน 185.04 ล้านบาท, ลำปาง จำนวน 64 โครงการ วงเงิน 298.86 ล้านบาท, เชียงราย จำนวน 89 โครงการ วงเงิน 355.47 ล้านบาท, เพชรบูรณ์ จำนวน 89 โครงการ วงเงิน 232.42 ล้านบาท, มุกดาหาร จำนวน 246 โครงการ วงเงิน 219.04 ล้านบาท, นนทบุรี จำนวน 45 โครงการ วงเงิน 168.61 ล้านบาท, สมุทรปราการ จำนวน 53 โครงการ วงเงิน 312.66 ล้านบาท, กาญจนบุรี จำนวน 47 โครงการ วงเงิน 313.04 ล้านบาท, ชลบุรี จำนวน 82 โครงการ วงเงิน 546.41 ล้านบาท,ระยอง จำนวน 125 โครงการ วงเงิน 401.80 ล้านบาท และภูเก็ต จำนวน 58 โครงการ วงเงิน 450.85 ล้านบาท
โดยผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการ คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ประมาณ 36,070 คน และมีผู้ได้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 3,602,819 คน และไม่น้อยกว่า 38,721 ครัวเรือน รวมทั้งช่วยยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของสินค้า ทักษะและความรู้ในการประกอบอาชีพ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการฟื้นตัวและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจในหมู่บ้านและชุมชน
ทั้งนี้ เมื่อรวมกับผลการอนุมัติโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากในครั้งที่ 1-5 แล้ว ครม.ได้อนุมัติโครงการไปแล้วจำนวน 8,516 โครงการ ในพื้นที่ 70 จังหวัด เป็นวงเงินที่เข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 19,904.93 ล้านบาท ยังคงเหลืออีก 6 จังหวัดที่อยู่ระหว่างการพิจารณาตามขั้นตอนได้แก่ ชัยนาท ราชบุรี เชียงใหม่ สุพรรณบุรี แม่ฮ่องสอน และสกลนคร