นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะประธานกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ได้มอบนโยบายให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการรองรับนโยบายการเปิดประเทศใน 120 วันของรัฐบาล ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้ถือเป็นการเปิดครั้งใหญ่ที่สุดทั้งเฟส 2 และเฟส 3 รวม 26 จังหวัด รองรับการท่องเที่ยวทั้งของคนไทยและต่างชาติกระจายไปยังทุกภูมิภาคของประเทศ ประกอบกับเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) อีกด้วย โดยให้นำบทเรียนจากโครงการแซนด์บ็อกซ์ที่เปิดก่อนหน้ามาปรับปรุงแก้ไขและ เร่งดำเนินการตามนโยบายการบินวิถีใหม่ (New Normal) ที่จะมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ในกิจการการบินให้สามารถนำมาเริ่มใช้ได้โดยเร็ว
และให้ CAAT เป็นศูนย์กลางดำเนินการร่วมกับกระทรวงคมนาคม ในการประสานงานและเตรียมการเพื่อให้บุคลากรทางการบินซึ่งปฏิบัติงานสัมผัสใกล้ชิดโดยตรงกับผู้โดยสาร ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติการบิน โดยเฉพาะในช่วงการเปิดประเทศในเดือนตุลาคมนี้ด้วย
สำหรับการช่วยเหลือสายการบินให้ได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) นั้น รมว.คมนาคม กล่าวว่า มีความห่วงใยต่อการอยู่รอดของสายการบินสัญชาติไทย ซึ่งประสบปัญหาวิกฤต มาอย่างต่อเนื่อง จึงให้ CAAT เร่งรัดดำเนินการเพื่อให้มีข้อมูลวิเคราะห์เชิงลึกถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคและการสูญเสียความสามารถด้านกิจการการบินของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงปี 2568 เป็นต้นไป เพื่อเสนอข้อมูลต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความช่วยเหลือสายการบินให้ได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) โดยเร็ว
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบร. ยังเน้นย้ำให้ CAAT เร่งรัดดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องที่ได้รับจากการตรวจประเมินตามโครงการยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยตามการประเมินความปลอดภัยการบินระหว่างประเทศ (IASA: International Aviation Safety Assessment) ขององค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) โดยมีเป้าหมายเดิมคือเพื่อยกระดับประเทศไทยกลับคืนสู่ Category 1 ภายในปี 2564
ซึ่งการกลับสู่ Category 1 จะทำให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ระบบการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนเป็นไปตามมาตรฐานของ FAA IASA ซึ่งจะส่งผลดีให้สายการบินของไทยบินตรงไปยังสหรัฐฯ ได้และทำการบินร่วมได้ตามปกติ (Code Sharing) รวมถึงยังจะส่งผลต่อการขอเพิ่มจำนวนเที่ยวบินจากไทย ไปยังประเทศอื่นที่ยึดถือผลประเมินของ FAA ด้วย เช่น เกาหลีใต้ เป็นต้น
นอกจากนี้ กบร. ได้มอบหมายให้ CAAT เร่งรัดแก้ไขกฎระเบียบการอนุญาตโดรนขนาดใหญ่ (น้ำหนักเกิน 25 กิโลกรัมขึ้นไป) ที่มีวัตถุประสงค์การใช้งานเพื่อการเกษตร ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้ยื่นขออนุญาตเข้ามาเป็นจำนวนมาก ภายในเดือนกันยายน CAAT จะทยอยขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ผู้ยื่นขออนุญาตที่มีความพร้อมสามารถใช้โดรนเพื่อการเกษตรได้อย่างถูกกฎหมายภายในเดือนตุลาคม 2564
ส่วนโดรนที่มีน้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม CAAT รายงานว่า ปัจจุบันไม่มีคำขออนุญาต คงค้าง โดยสามารถทยอยขึ้นทะเบียนได้ตามขั้นตอนและกรอบเวลาที่กำหนดตามปกติ