ศูนย์สารสนเทศจีนคาด GDP ไตรมาส 4 ปี 50 โต 11.2% ขณะ CPI โต 5.9%

ข่าวต่างประเทศ Monday November 12, 2007 10:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์สารสนเทศแห่งชาติจีนคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของจีนในไตรมาส 4 จะขยายตัวในอัตรา 11.2% และที่ระดับ 11.4% ในปี 2550 ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) คาดจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5.9% ในช่วงไตรมาสที่ 4 และ 4.6% ในปีนี้
ศูนย์สารสนเทศเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ไชน่า ซิเคียวริตี้ส์ เจอร์นัลว่า ตัวเลขการลงทุนในสินทรัพย์คงที่โดยรวมในช่วงไตรมาสที่ 4 คาดจะเพิ่มขึ้น 25.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี และ 25.5% ในปี 2550 และคาดว่าตัวเลขการลงทุนในสินทรัพย์คงที่ในเขตเมืองจะเพิ่มขึ้น 25.4% ในช่วงไตรมาสที่ 4 และ 26.1% ในปีนี้
การลงทุนในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะเติบโต 28% ในปีนี้ และเพิ่มขึ้น 6.2% จากระดับในปี 2549
ขณะที่อัตราการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะยังคงแข็งแกร่ง โดยยอดค้าปลีกคาดว่าจะเติบโต 17% ในช่วงไตรมาสที่ 4 และเพิ่มขึ้น 16.2% ในปีนี้
ส่วนยอดเกินดุลการค้าคาดว่าจะแตะระดับ 2.73 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ แม้ยอดเกินดุลการค้าในช่วงไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มจะร่วงลงอย่างหนัก จากระดับในช่วงไตรมาสที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 8.74 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากที่รัฐบาลได้ออกนโยบายควบคุมการส่งออกก็ตาม
นอกจากนี้ ศูนย์สารสนเทศฯ ยังคาดการณ์อีกว่า อัตราการขยายตัวของปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ M2 จะขยายตัวที่ระดับ 18.2% ในปีนี้ ขณะที่ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ M0 และ M1 คาดจะเพิ่มขึ้นประมาณ 12.7% และ 21.5% ตามลำดับ
"ปัญหาสภาพคล่องที่มีมากจนเกินไปนั้นไม่สามารถแก้ไขได้โดยใช้นโยบายการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ควรใช้นโยบายการคลังและนโยบายด้านอื่นๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว" ศูนย์สารสนเทศฯกล่าว
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เตือนว่า อัตราการใช้จ่ายด้านงบประมาณอาจเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
"หากเราคงเป้าหมายยอดขาดดุลการคลังตามที่ได้ตั้งเป้าเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา อัตราการใช้จ่ายในช่วงไตรมาสที่ 4 อาจเพิ่มขึ้นอย่างมาก" ศูนย์สารสนเทศฯ กล่าวพร้อมคาดว่ารายได้โดยรวมของประเทศจะแตะระดับ 1 ล้านล้านหยวนในปีนี้
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ขณะที่จีนยังคงเผชิญปัญหาสภาพคล่องที่มากเกินไปนั้น ดัชนี CPI ของจีนยังคงเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สำนักข่าวซินหัวรายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ