(เพิ่มเติม) คลังเผยเดือนแรกปีงบฯ 51 จัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ 1.3%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 8, 2007 12:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          กระทรวงการคลังเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนตุลาคม 2550 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2551 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 116,093 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณจำนวน 1,521 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.3 และสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 8,630 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.0
ในส่วนกรมสรรพากรจัดเก็บได้ 73,085 ล้านบาท เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยสูงกว่าประมาณการ 138 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.2 เป็นผลจากภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ
ด้านกรมสรรพสามิตจัดเก็บได้ 23,173 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 100 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.4 ผลจากภาษียาสูบและสุราจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ในทางกลับกันภาษีเบียร์ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
และกรมศุลกากรจัดเก็บได้ 8,436 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 656 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.4
นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง คาดว่า ในปีงบประมาณ 2551 จะสามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.495 ล้านล้านบาท แต่ก็ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลทั้งในแง่บวกและลบ
ปัจจัยบวก ได้แก่ เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้นเนื่องจากมีความชัดเจนทางการเมือง ทำให้มีการขยายตัวด้านการลงทุน, สศค.เตรียมเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ เพื่อให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการภาครัฐ ซึ่งช่วยลดภาระการใช้งบประมาณให้ภาครัฐ ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ความผันผวนของค่าเงินบาท ส่วนราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงสามารถเป็นได้ทั้งปัจจัยบวกและลบต่อการจัดเก็บรายได้
ปัจจุบันรายได้หลักของรัฐมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 26.5 ของรายได้รวม รองลงมาคือภาษีนิติบุคคลมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 22.6 ของรายได้รวม และภาษีสรรพสามิตมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 18.9 ของรายได้รวม
นายสมชัย กล่าวว่า หากรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วต้องการจัดทำงบประมาณให้ขาดดุลมากขึ้นควรที่จะคำนึงถึงความยั่งยืนทางการคลัง เสถียรภาพทางการคลัง และฐานะทางการคลัง ซึ่งเชื่อว่าการกำหนดให้งบประมาณปี 51 มีการขาดดุล 1.6 แสนล้านบาทน่าจะเพียงพอในการดำเนินนโยบายต่างๆ เพราะหากมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งหากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังปรับตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปก็อาจเกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ จนอาจถึงขั้นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ต้องประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ