นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวในงานประชุมประจำปี 2564 ของ สศช. ในหัวข้อ "13 หมุดหมาย พลิกโฉมประเทศไทย" ว่า ขณะนี้สภาพัฒน์ อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำมาประกอบการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะมีลักษณะที่ไม่เหมือนแผนเดิม ๆ ที่ผ่านมา โดยจะมีการกำหนดภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จภายใน 5 ปีข้างหน้าอย่างชัดเจน ในอนาคตประเทศไทยอาจมีวิกฤติรุนแรงกว่าโควิด-19 ซึ่งไทยอาจจะล้มได้ แต่ลุกให้ไวและก้าวไปข้างหน้าให้เร็ว เน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม การบริการ ชุมชน เอสเอ็มอี ควบคู่กับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และนำการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ามาร่วมด้วย
นายดนุชา กล่าวว่า ประเทศไทยถึงเวลาที่ต้องปรับโครงสร้างอีกครั้ง หลังจาก 30 ปีที่ผ่านมาปรับจากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรม และปี 2564 มีการขยายภาคท่องเที่ยวและบริการเพิ่มขึ้น แต่วันนี้สิ่งที่ไทยต้องเผชิญ และผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ไทยมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น มีสังคมที่เป็นธรรม คนไทยมีศักยภาพสูงขึ้น มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม คนไทยต้องได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพและคำนึงสิ่งแวดล้อมด้วย
ทั้งนี้ ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางจัดทำแผน โดยปลายทางของแผนคือ ทำให้ไทยเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง เป็นประเทศที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนา ลดความเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อมดีขึ้น
นายดนุชา กล่าวว่า กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วมากขึ้นในอนาคต ทำให้ต้องมีการปรับตัว และมุ่งไปสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การเป็นสังคมสูงวัยของหลายประเทศทั่วโลก และความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถือเป็นโอกาสและความเสี่ยงของประเทศไทย
ทั้งนี้ จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศไทย ทำให้ทุกเรื่องเร่งตัวเร็วขึ้น เช่น การฟื้นตัวเศรษฐกิจจะเป็นในรูปแบบตัว K ในบางอุตสาหกรรมจะรู้สึกว่าดีขึ้น แต่บางอุตสาหกรรมก็ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว จำนวนคนยากจนเพิ่มสูงขึ้น การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐลดลง ซึ่งหลังจากนี้จะมีข้อจำกัดในแง่ของการคลังสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะข้างหน้า การทำงานในอนาคตเกิดทำงานในรูปแบบใหม่ การเรียนรู้ของเด็กถดถอยลง
นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับความพร้อมของประเทศไทย ในด้านทุนทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน พบว่า ผลิตภาพโดยรวมของไทยเติบโตช้ามาก เพราะไม่ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการผลิต ความสามารถการแข่งขันไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานวิจัยและเทคโนโลยียังอยู่ในจุดที่ยังไม่ค่อยดี แต่ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลดลงก็เป็นโอกาสที่ทำให้สินค้ามีสามารถแข่งขันที่สูงขึ้น
สำหรับด้านสังคม โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลต่อแรงงานในระบบ ถ้าหากไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานให้ทันกับแรงงานที่หายไป ก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง แต่สิ่งที่ยังเข้มแข็งคือ มีเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งมีส่วนช่วยดูแลประชาชนได้
ส่วนประสิทธิภาพภาครัฐปรับตัวดีขึ้น แต่จำเป็นต้องปรับปรุงกฏหมาย กฏระเบียบให้สอดรับทิศทางในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมายังแก้กฏหมายได้ช้ามาก ถ้าสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพภาครัฐตอบสนองความต้องการของประชาชน และอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ ทำให้ในอนาคตสามารถลดต้นทุนและด้านเวลาสำหรับประชาชนและภาคธุรกิจได้มากขึ้น
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวถึงหมุดหมายการพัฒนา ตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน มีเป้าหมายและทิศทางที่ช่วยในการสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ ที่ครอบคลุม 4 มิติการพัฒนา ได้แก่
(1) มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 1. มุ่งเน้นสร้างมูลค่าของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม หมุดหมายที่ 2. ยกระดับการท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวคุณภาพสูง หมุดหมายที่ 3.สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเดิมในอุตสาหกรรมยานยนต์สามารถปรับตัวไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการสร้างปัจจัยสนับสนุนเพื่อให้ผู้ใช้รถยนต์เปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หมุดหมายที่ 4. สร้างมูลค่าจากสินค้าและบริการสุขภาพซึ่งไทยมีความได้เปรียบ
หมุดหมายที่ 5. ยกระดับบทบาทของไทยในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับการเป็นศูนย์กลางคมนาคมและโลจิสติกส์ และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ หมุดหมายที่ 6. ผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัล โดยการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบ รวมถึงการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิมสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
(2) มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 7. พัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีสู่การเป็นผู้ประกอบการยุคดิจิทัล หมุดหมายที่ 8. สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก สร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ และดิจิทัล หมุดหมายที่ 9. แก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่นแบบมุ่งเป้าที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของครัวเรือนยากจน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการจัดความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตแก่คนไทยทุกช่วงวัย
(3) มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 10. เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร รวมถึงการเร่งลดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะในภาคพลังงานและอุตสาหกรรม หมุดหมายที่ 11. สร้างความสามารถในการรับมือกับภัยธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นการป้องกันภัยโดยใช้แนวทางธรรมชาติ รวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพในการคาดการณ์และเตือนภัย
(4) มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 12. สนับสนุนให้คนทุกช่วงวัยมีโอกาสพัฒนาทักษะอย่างเต็มศักยภาพ มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีสมรรถนะที่สอดคล้องกับบริบทของโลกยุคใหม่ และหมุดหมายที่ 13.ยกระดับภาครัฐให้มีสมรรถนะสูงและคล่องตัว สามารถก้าวสู่การเป็นภาครัฐดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านกระบวนการยกร่างกรอบแผนพัฒนาฯ ข้างต้น สศช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ 13 คณะ (ตาม 13 หมุดหมาย) เพื่อดำเนินการยกร่างรายละเอียดของตัวชี้วัดและกลยุทธ์ของแต่ละหมุดหมายในช่วงตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา (มิถุนายน - กันยายน 2564) และภายหลังจากการประชุมในวันนี้ สศช. จะจัดให้มีการรับฟังและระดมความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 อีกครั้งในช่วงธันวาคม 2564 - มกราคม 2565 พร้อมทั้งปรับปรุงแผนพัฒนาฯ จากความเห็นที่ได้รับอีกครั้ง ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ตามลำดับ ก่อนจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา และทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2565 ต่อไป