นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยภายหลังการหารือกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสมาคมการค้า 12 สมาคมที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้มีการนำเสนอบทเรียนจาก ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ซึ่งระบุว่าการจะเปิดกทม. ควรมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มให้ถึง 70% ก่อน พร้อมกำหนดมาตรการต่างๆ ที่ชัดเจน ทั้งระบบควบคุม และระบบติดตามตัว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งต้องพิจารณาความพร้อมอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย
โดยขณะนี้จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็ม 2 ในกทม. ยังมีประมาณ 44% เท่านั้น ซึ่งหากเร่งการฉีดวัคซีนให้ได้ 70% คาดว่าจะใช้เวลาถึงประมาณวันที่ 22 ต.ค. 64 และยังต้องรอให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่ควรเร่งเปิดเมืองหากยังไม่พร้อม
ทั้งนี้ แผนที่รัฐบาลประกาศว่าประเทศไทยจะมีวัคซีนทยอยเข้ามาจำนวนมากในเดือนก.ย.-ต.ค.นั้น แต่ละพื้นที่ได้มีการเตรียมความพร้อมในการช่วยกระจายวัคซีนไปยังประชาชน รวมไปถึงผู้ประกอบการแต่ละรายก็มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับการเดินทางจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพียงแต่ต้องรอดูว่าวัคซีนจำนวนดังกล่าวจะเข้ามาตามแผนที่วางไว้หรือไม่ และความสามารถในการเร่งฉีดวัคซีน และความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดทำได้ดีเพียงใด
"ดังนั้นการเร่งเปิดเมืองจนเกินไป ถือว่ามีความเสี่ยงมากพอสมควร หากรอให้ภาคส่วนต่างๆ มีความพร้อมกว่านี้อีกสักระยะ น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า โดยสิ่งสำคัญที่สุดของประชาชนในขณะนี้ คือการป้องกันตัวเอง และปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มงวด" นายสนั่น กล่าว
ขณะเดียวกัน หอการค้าไทยพยายามสื่อสารทำความเข้าใจกับสมาชิกในกิจการแต่ละประเภท เพื่อให้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน หลักๆ คือ ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน โดยการฉีดวัคซีนให้ได้ 70% และกลุ่มเสี่ยงต้องได้รับวัคซีน 100%
นอกจากนี้ พนักงานและผู้ให้บริการในร้านค้าควรจะต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม และต้องตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ตามกำหนดระยะเวลาก่อนเปิดให้บริการ ซึ่งหากเข้าเกณฑ์และเงื่อนไข ผู้ประกอบการจะสามารถเตรียมเปิดกิจการได้ และที่สำคัญคือผู้ประกอบการจะต้องมีวินัย โดยย้ำว่าการเลือกที่จะเปิดประเทศ ประชาชนชาวไทยจะต้องได้รับวัคซีนให้มากที่สุด พร้อมมีมาตรการรองรับที่พร้อม ซึ่งจะทำให้การเปิดประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืน
"แม้ว่าการเปิดกทม. เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า และต้องพิจารณาให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ซึ่งหากเกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่ และไม่สามารถควบคุมได้ ผลกระทบที่ตามมาจะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง และกระทบกับภาคสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หอการค้าไทยคาดว่าการเปิดกทม. ครั้งนี้ จะมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่ยังรอดูสถานการณ์ว่า รัฐบาลจะมีมาตรการอื่นๆ ออกมาเพิ่มเติมอีกหรือไม่ และมีแนวโน้มนักท่องเที่ยวเข้ามามากน้อยเพียงใด เพื่อประเมินว่าคุ้มค่าต่อการเปิดดำเนินกิจการหรือไม่ เพราะหากจะต้องเปิดดำเนินการ แปลว่าต้องรันระบบทั้งหมด ต้องเรียกแรงงานที่เดินทางกลับต่างจังหวัดกลับมาทำงาน ต้องเตรียมมาตรการต่างๆ รองรับ เตรียมวัตถุดิบที่ใช้ประกอบการต่างๆ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งเป็นต้นทุนทั้งหมด" นายสนั่น กล่าว
พร้อมระบุว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในระยะนี้ ภาคเอกชนมองไปที่การบริโภค และการผ่อนคลายธุรกิจในประเทศมากกว่า และทยอยเปิดตามความเสี่ยงที่จัดการได้ นอกจากนั้น การที่จะทำให้สามารถเปิดเมืองได้นั้น ไม่ใช่ความรับผิดชอบของภาครัฐอย่างเดียว แต่ภาคเอกชน และประชาชน ต้องร่วมมือกันด้วย เพื่อไม่ให้การระบาดกลับมา