(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยส่งออกส.ค.โตชะลอลงรับผลกระทบล็อกดาวน์ แต่มั่นใจทั้งปีสูงกว่าเป้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 24, 2021 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยส่งออกส.ค.โตชะลอลงรับผลกระทบล็อกดาวน์ แต่มั่นใจทั้งปีสูงกว่าเป้า

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน ส.ค.64 โดยการส่งออกมีมูลค่า 21,976.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8.93% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากตลาดคาด 18.5% โดยการส่งออกของไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ การส่งออกเดือนส.ค. จะขยายตัวได้ 19.43%

"การส่งออกของไทยเดือนส.ค. ยังขยายตัวสูง แต่เป็นอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก.ค. เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย จากภาคการผลิตที่ชะงักงันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ทำให้มีการล็อกดาวน์ แต่ถือว่าน้อยไม่เหมือนบางประเทศ และคาดว่าเดือนหน้า(ก.ย.)ก็ยังคงได้รับผลกระทบอยู่ แต่ปลายปีคาดว่าจะลดลง" นายจุรินทร์ กล่าว

สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกขยายตัวได้ดีเป็นเพราะเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน รวมถึงการทำงานหนักของกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชน ในการแก้ปัญหาส่งออก โดยเฉพาะปัญหาเฉพาะหน้าที่ขัดขวางการส่งออก, ดัชนี PMI ของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้น แสดงว่า พร้อมจะซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น, ค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้การแข่งขันด้านราคาของไทยดีขึ้น

ส่วนสินค้าที่การส่งออกยังขยายตัวได้ดี มีทั้งสินค้าเกษตร, อุตสาหกรรมการเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม ทั้งผลิตภัณฑ์ยางพารา, ผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูป, อาหารกลุ่มต่างๆ , ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ข้าว, รถยนต์และส่วนประกอบ, รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่ตลาดยังขยายตัวได้ดีในทุกตลาด ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น อาเซียน เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา รัสเซียและซีไอเอส ยกเว้นซีแอลเอ็มวี, ทวีปออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ที่ลดลงเล็กน้อย

"สินค้าเกษตรยังขยายตัวได้ดีมาก เดือนส.ค. สินค้าเกษตร ขยายตัว +45.5% เป็นยางพารา +98.8% หรือ เกือบ100% ผักผลไม้ทั้งสดและแช่เย็นแช่แข็ง +84.8% ในรายสินค้า เช่น เงาะ+431% เพราะได้ตลาดมาเลเซีย ตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งตลาดใหม่หลายประเทศเป็นตลาดผลไม้สำคัญของไทยต่อไป ทุเรียน +315.48% ลำไย +102.67% มังคุด +44.16% ที่น่าสนใจ คือข้าว ตัวเลข 7 เดือนแรกไม่ดีเท่าที่ควร ช่วงหลังเงินบาทอ่อนค่า เศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้น ความต้องการบริโภคข้าวสูงขึ้นผู้ส่งออกข้าวเดินหน้าเจาะตลาด ทำให้เดือนสิงหาคมเป็นบวกถึง 25.44%

เมื่อดูสัญญาณจนสิ้นปีมีแนวโน้มที่ดีว่าตัวเลขสัญญาการส่งออกข้าวภาคเอกชนปกติเฉลี่ยเดือนละ 4-5 แสนตัน เดือนกรกฎาคมเพิ่มเป็น 7 แสนตันและเดือนสิงหาคม 8 แสนตัน น่าพอใจกว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา" นายจุรินทร์ กล่าว

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23,191.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 47.92% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,215.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ส่งผลให้ภาพรวมในช่วง 8 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.64) การส่งออกมีมูลค่า 176,961.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.25% การนำเข้า มีมูลค่า 175,554.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 30.97% ส่งผลเกินดุลการค้า 1,406.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสสุดท้าย คาดว่า จะยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องแม้ชะลอไปบ้าง และตัวเลขทั้งปีน่าจะเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4% แน่นอน เพราะเพียง 8 เดือนก็ขยายตัวกว่า 15% แล้ว และมองว่ามีโอกาสเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักได้ และจากการสอบถามภาคเอกชน ก็เห็นว่า น่าจะโตได้เป็นตัวเลข 2 หลักหรือโตเกินกว่า 10% ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ จะเร่งเดินหน้ากิจกรรมส่งเสริมการส่งออกกว่า 130 กิจกรรมในช่วงที่เหลือของปี, เร่งเปิดด่านการค้าชายแดน, จับมือภาคเอกชนแก้ปัญหาเชิงรุกสำคัญ เพื่อให้การส่งออกขยายตัวได้มากที่สุด

ด้านนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การนำเข้าเดือนส.ค. ขยายตัวถึง 47.21% จากการนำเข้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมาก เพราะการฟื้นตัวของภาคการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งเป็นสัญญาณดีต่อการส่งออกไทย

ส่วนปัญหาขาดแคลนชิป และเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก จากการสอบถามภาคเอกชน พบว่า ปัญหาจะคลี่คลายได้เร็วๆ นี้ เพราะผู้ผลิตกลับมาเร่งการผลิตเพิ่ม จากก่อนหน้านี้ ผู้ผลิตสำคัญทั้งสหรัฐฯ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนต้องปิดโรงงาน และผลกระทบจากภัยธรรมชาติ รวมถึงความต้องการใช้ที่สูงมากจนผลิตไม่ทัน แต่ยังไม่กระทบการส่งออกของไทยในไตรมาส 3 เพราะสินค้าที่ใช้ชิป และเซมิคอนดักเตอร์ ยังส่งออกได้ดี ทั้งรถยนต์ คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า แต่จะเห็นผลกระทบชัดเจนในไตรมาส 4


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ