ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 33.53 อ่อนค่าตามสกุลเงินภูมิภาค คาดกรอบพรุ่งนี้ 33.35-33.55

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 27, 2021 17:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 33.53 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจาก เปิดตลาดเมื่อเช้านี้อยู่ที่ระดับ 33.41 บาท/ดอลลาร์

วันนี้เงินบาทปิดอ่อนค่า สอดคล้องกับภูมิภาคที่ส่วนใหญ่อ่อนค่า โดยระหว่างวันยังไร้ปัจจัยใหม่ เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.31-33.54 บาท/ดอลลาร์ โดยบาทอ่อนค่าตามดอลลาร์ที่ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ จากตลาดที่ยังคงกังวลว่าธนาคาร กลางสหรัฐ (เฟด) จะถอนมาตรการ QE

ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศและต่างประเทศ และการแก้ปัญหาหนี้ดอกเบี้ยหุ้นกู้ของ บริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ส่วนคืนนี้ต้องติดตามยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนส.ค. ของสหรัฐฯ

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทของวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 33.35-33.55 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 110.94 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้าที่ระดับ 110.68 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1696 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้าที่ระดับ 1.1723 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,620.02 จุด ลดลง 11.13 จุด (-0.68%) มูลค่าการซื้อขาย 135,802 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 3,897.61 ลบ.(SET+MAI)
  • ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ออกไป
อีก 2 เดือน จนถึงวันที่ 30 พ.ย.64 พร้อมปรับลดระยะเวลาห้ามออกนอกเคหสถานเหลือ 22.00-04.00 น. และอนุญาตให้เปิดร้าน
เสริมสวย นวด/สปา สถานเสริมความงาม โรงภาพยนตร์ เล่นดนตรีในร้านอาหารได้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้
  • ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ปรับลดระยะเวลาในการกักกันสำหรับผู้มีเอกสารวัคซีนโควิด-19 ครบโดส เหลือ 7 วัน ในส่วนผู้ที่
ยังไม่มีเอกสารวัคซีน ให้กักตัวตั้งแต่ 10-14 วัน สำหรับการเดินทางเข้าประเทศทางอากาศ กักตัว 7 วัน ทางน้ำและทางบก กักตัว
10 -14 วัน อนุญาตให้ทำกิจกรรมในสถานที่กักกันฯ ตามเงื่อนไขที่กำหนด
  • ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เห็นชอบการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 1-31 ต.ค.64 ได้แก่ เกาะสมุย
เกาะพะงัน เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เขาหลัก เกาะยาว จ.พังงา และ เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ คลองม่วง ทับแขก จ.กระบี่
และแนวทางเปิดพื้นที่เพิ่มเติม 10 จังหวัด เริ่มวันที่ 1 พ.ย.64 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.กระบี่ จ.พังงา (ทั้งจังหวัด) จ.ประจวบ
คีรีขันธ์ (หัวหิน หนองแก) จ.เพชรบุรี (ชะอำ) จ.ชลบุรี (พัทยา บางละมุง จอมเทียน บางเสร่) จ.ระนอง เกาะพยาม จ.เชียงใหม่
(อ. เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า จ.เลย (เชียงคาน) และ จ.บุรีรัมย์ (เมือง)
  • รมว.คลัง ชี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบ ซึ่งรัฐบาลพยายามควบคุมการแพร่
ระบาด และนำนโยบายการเงินการคลังมาช่วยภาคธุรกิจและแรงงาน ทั้งโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และรักษาการบริโภคในประเทศ ซึ่ง
ได้ให้ความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจของไทยในปี 2564 จะเติบโตอยู่ในระดับ 1.3% และในปี 2565 จะพยายาม
รักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอยู่ที่ระดับ 4-5%
  • หลายแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโต เช่น แพลตฟอร์ม Huobi Global และ Binance ได้ยุติการรับจด
ทะเบียนบัญชีใหม่ของลูกค้าในจีน หลังจากธนาคารกลางจีนออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ว่า การทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ
สกุลเงินดิจิทัล ซึ่งรวมถึงบิตคอยน์ ถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และจะถูกกวาดล้างอย่างหนัก
  • นักวิเคราะห์ ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัว GDP ของจีนในปีนี้ลงสู่ระดับ 7.7% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ
8.2% เนื่องจากคาดว่าวิกฤตพลังงานในจีน อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ
  • รายงานข่าวผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของเยอรมนี ระบุว่า พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD) น่าจะ
เป็นฝ่ายคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปอย่างฉิวเฉียด ซึ่งอาจทำให้พรรค SPD ขึ้นมานำรัฐบาลเยอรมนีได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2548
และหมายถึงการสิ้นสุดลงของการบริหารโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU)/พรรคสหภาพสังคม
คริสเตียน (CSU) ของนางอังเกลา แมร์เคิล
  • ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เผยว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังคงมุ่งเน้นการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการ
ระบาดของโควิด-19 โดยพิจารณาจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มและอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง
  • ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่จะมีการรายงานในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวม

ภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2564, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI), ภาคการผลิตเดือนส.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือน

ก.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ